ไม่พบผลการค้นหา
สภาล่างสหรัฐฯ ลงมติเอกฉันท์ถอดถอน โดนัลด์ ทรัมป์ ออกจากตำแหน่งประธานาธิบดี มี ส.ส.รีพับลิกันหลายคนร่วมถอดถอนด้วย ด้านผู้นำเหล่าทัพออกแถลงการณ์สำคัญ รับรองชัยชนะ โจ ไบเดน พร้อมยืนยันจะปกป้องประชาธิปไตย

13 ม.ค.คือช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์เต็มหลังการก่อจลาจลของกลุ่มผู้ประท้วงซึ่งสนับสนุบประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตันของสหรัฐฯ โดยเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรหรือสภาล่างของสหรัฐฯ ได้ทำการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์ ด้วยคะแนน 232 ต่อ 197 เห็นด้วยกับมติการถอดถอนทรัมป์ออกจากการเป็นประธานาธิบดี ในข้อหาที่ทรัมป์ "ยุยงปลุกปั่นให้เกิดจลาจล" ส่งผลให้ทรัมป์คือ ผู้นำคนแรกในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ที่ถูกยื่นถอดถอนถึง 2 ครั้ง

ในกระบวนการลงมติเพื่อเดินหน้าการถอดถอนประธานาธิบดีครั้งประวัติศาสตร์นี้ มีความคาดหวังตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่ามติเห็นชอบจะออกมาเป็นเอกฉันท์ เนื่องจาก ส.ส.จากพรรคเดโมแครตครองเสียงข้างมากในสภาล่าง อย่างไรก็ตาม มี ส.ส.จากพรรครีพับลิกันถึง 10 คนที่ร่วมโหวตเห็นชอบกับการถอดถอนทรัมป์ออกจากตำแหน่ง 

AFP - สภาคองเกรส สภาล่าง สหรัฐฯ ถอดถอน ทรัมป์

กระบวนการต่อจากนี้ไปจะเป็นภาระของสภาสูงหรือวุฒิสภาที่จะต้องดำเนินการต่อ และหากคะแนนเสียงของวุฒิสภามีมากกว่า 2 ใน 3 เห็นชอบกับการถอดถอนประธานาธิบดี ทรัมป์ก็จะถูกปลดจากตำแหน่งและไม่สามารถรับตำแหน่งทางการเมืองได้อีกในอนาคต อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปได้สักทีเดียวว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะแม้พรรครีพับลิกันจะครองเสียงข้างมากในสภาสูง ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ทรัมป์จะรอดตัวจากการถูกยื่นถอดถอนครั้งที่สองนี้ แต่ มิตช์ แมคคอนเนล ผู้นำเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกันในวุฒิสภาสหรัฐฯ กลับกล่าวอย่างไม่มั่นใจว่าเขาจะโหวตเห็นชอบกับการถอดถอนทรัมป์หรือไม่


กองทัพสหรัฐฯ รับรอง โจ ไบเดน เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนที่ 46

ผู้นำเหล่าทัพสหรัฐฯ นำโดย มาร์ก มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการร่วมกองทัพสหรัฐฯ กองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิผู้ได้รับมอบหมายในการดูและความปลอดภัยในช่วงก่อนการจัดพิธีสาบานตนนี้ ไปจนถึงผู้นำจากเหล่าทัพต่างๆ ของสหรัฐฯ ร่วมกันออกแถลงการณ์ประนามเหตุรุนแรงและการก่อจลาจลที่อาคารรัฐสภาในวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมา ย้ำว่าการใช้ความรุนแรงนั้นขัดต่อทั้งธรรมเนียมปฏิบัติ คุณค่า คำสาบาน กฎหมาย และรัฐธรรมนูญ

ในแถลงการณ์สำคัญฉบับนี้มีการกล่าวถึงการที่กองทัพนั้นให้ความสำคัญกับการอยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้นำสหรัฐฯ ซึ่งเป็นพลเรือน โดยมีใจความที่ย้ำว่า โจ ไบเดน จะกลายเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดคนที่ 46 ของกองทัพสหรัฐฯ นอกจากนั้นก็ยังมีการกล่าวถึงจุดมุ่งหมายในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อมอบความปลอดภัยให้กับประชาชน ไปจนถึงหน้าที่สำคัญในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ 

สำนักข่าว CNN ชี้ว่า โดยปกติแล้วเจ้าหน้าที่ทหารระดับผู้นำเหล่าทัพของสหรัฐฯ มักจะไม่ค่อยออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองอย่างชัดเจน แต่เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้สร้างความกังวลให้กับทุกฝ่ายอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งการจัดพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ โจ ไบเดน ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 20 ม.ค.นี้ ซึ่งจะเป็นการจัดงานกลางแจ้ง ก็ถูกกดดันว่าอาจจะตกเป็นเป้าโจมตีของกลุ่มผู้ประท้วงหัวรุนแรงก็เป็นได้ ส่งผลให้มีการเตรียมการรักษาความปลอดภัยที่แน่นหนามาก คาดว่าจะมีทหารจากหน่วยกองกำลังสำรอง National Guard เข้าปฏิบัติหน้าที่มากถึง 20,000 นาย สูงที่สุดในประวัติศาสตร์พิธีสาบานตนรับตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ซึ่ง โจ ไบเดน กล่าวไว้ว่าเขาไม่เกรงกลัวที่ต้องเข้าพิธีสาบานตนกลางแจ้งครั้งนี้

ก่อนหน้านี้ AP รายงานว่า สำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐฯ หรือ FBI ประกาศเตือนพื้นที่เสี่ยงอย่างเมืองหลวงของทุกมลรัฐทั่วประเทศ รวมถึงเมืองหลวงของประเทศอย่างกรุงวอชิงตันให้เฝ้าระวัง 'เหตุนองเลือด' จากกลุ่มผู้ชุมนุมติดอาวุธที่อาจเกิดขึ้นในช่วงนี้ไปจนถึงวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งทีมสืบสวนเชื่อว่าส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้ประท้วงคือกลุ่มหัวรุนแรงสุดโต่ง

เว็บไซต์ ABC คือสื่อแรกที่นำเสนอถึงรายละเอียดของแถลงการณ์ภายในจาก FBI มีใจความว่า "กลุ่มผู้ชุมนุมติดอาวุธมีการวางแผนที่จะประท้วงใน 50 เมืองหลวงของทุกมลรัฐ เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. เรื่อยไปจนกระทั่งอย่างน้อยวันที่ 20 ม.ค." ซึ่งแถลงการณ์อีกหนึ่งฉบับที่มีการจัดทำขึ้นโดย FBI ถูกส่งไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศก่อนหน้าที่จะมีการจลาจลเกิดขึ้นในวันที่ 6 ม.ค.ที่ผ่านมาเช่นกัน โดยในวันที่ 29 ธ.ค. 2563 มีการแจ้งเตือนว่า มีความเป็นไปได้ว่าอาจมีการก่อเหตุจากกลุ่มผู้ประท้วง โดยจะพุ่งเป้าไปที่สมาชิกรัฐสภา