ไม่พบผลการค้นหา
รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ชี้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 เข้าสู่ภาวะชักหน้าไม่ถึงหลัง

ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ซึ่งมีข้อจำกัด ชนเพดานในทุกมิติ จนจะนำไปสู่ทางตันทางการคลัง ดังนี้

ทางตันที่ 1 : “ขาดดุลเต็มพิกัด ต้องกู้ชดเชยเต็มเพดาน” มาตรา 21 พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลได้ไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี (3.1 ล้านล้านบาท) บวกกับ 80% ที่ตั้งไว้สำหรับชำระคืนเงินต้น ซึ่งรวมเท่ากับ 700,000 ล้านบาท เท่ากับยอดขาดดุล 700,000 ล้านบาท ของงบปี 65 พอดี เต็มเพดานแล้ว หมายความว่าถ้าเก็บภาษีไม่เข้าเป้าที่ 2.4 ล้านล้านบาท (ซึ่งเป็นไปได้สูงมาก) เราก็จะเข้าสู่ภาวะทางตันทางงบประมาณทันที

ทางตันที่ 2 : “ขาดดุลของงบประมาณ (700,000 ล้านบาท) แซงหน้างบประมาณรายจ่ายลงทุน (624,399.9 ล้านบาท)” ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ม. 20(1) ไปเรียบร้อย แต่รัฐบาลแก้ตัวว่าจะเพิ่มรายจ่ายลงทุนช่องทางอื่นๆ แทน เช่น PPP Thailand Future Fund และกู้ตาม ม. 22 พ.ร.บ.หนี้สาธารณะฯ ซึ่งฟังไม่ขึ้น เป็นการจับแพะชนแกะ เอานู่นมาโปะนี่ นับรวมแบบข้างๆคูๆ เป็นคนละส่วนกัน

ทางตันที่ 3 : “หนี้สาธารณะต่อ GDP จะทะลุ 60% ในปี 65” หนี้สาธารณะถูกประเมินว่าจะอยู่ที่ 56-57% ณ ก.ย. 64 รวมผลกระทบจากโควิดระลอก 2 แล้ว แต่ยังไม่รวมผลกระทบจากระลอกที่ 3 ประมาณ -1.5% ของ GDP หรือความเสียหาย 240,000 ล้านบาท หากรวมก้อนนี้และที่ต้องกู้เพื่อชดเชยขาดดุลปี 65 แล้ว หนี้สาธารณะต่อ GDP จะทะลุ 60% ในปี 65 นั่นคือทางตันของการกู้เงิน

ทางตันที่ 4 : “เงินที่กู้มาเยียวยา ฟื้นฟู 1 ล้านล้านบาท จะหมดแล้ว” โอนจากงบฟื้นฟูมาโปะงบเยียวยาอยู่เรื่อยๆ ทำให้แทบไม่ได้ลงทุนฟื้นฟูอะไรเท่าไหร่ ชุดมาตรการเยียวยาล่าสุด 2.4 แสนล้านบาท ก้อนสุดท้ายก็ไปกินในส่วนงบฟื้นฟูแทบหมด นั่นหมายความว่าหากไม่นับรวมงบกลาง เราไม่มีเงินเผื่อเหลือเผื่อขาดไปพยุงเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนจากโควิดต่อจากนี้แล้ว งบ 65 ใน 6 ยุทธศาสตร์ก็ไม่ได้มีเผื่อเหลือเผื่อขาดไว้สำหรับการเยียวยา

สรุป งบปี 65 อยู่ในภาวะมืดแปดด้าน ชักหน้าไม่ถึงหลัง เดินไปทางไหนก็เจอแต่ทางตัน