ไม่พบผลการค้นหา
แม้ว่า 36 ชาวบ้าน ‘เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น’ จะได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ภาพการใช้กำลังตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) นับร้อยนาย เข้าสลาย ‘หมู่บ้านลูกทะเล’ ท่ามกลางเสียงกรีดร้องของผู้ถูกกระทำ ที่มีเพียงมือเปล่าไร้อาวุธและอำนาจ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2564 ยิ่งเป็นการตอกย้ำความรุนแรงที่เกิดจากรัฐ

ด้วยกฎหมายและกระบอกปืน ปิดปากประชาชนที่ออกมาทวงสัญญาจากผู้มีอำนาจ เพื่อวอนให้รัฐยุติ "โครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต" ด้วยการยกหมู่บ้านเข้ากรุง เพื่อปกป้องบ้านเกิดจากกงจักรทุนในนามการพัฒนา

“คนจะนะมาทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน แต่คนที่ถืออำนาจทำหน้าที่ปกป้องกลุ่มทุน”

“หากประชาชนไม่ลุกขึ้นมาปกป้องแผ่นดิน หลายพื้นที่จะถูกอำนาจรัฐทำลาย” ข้อความบางส่วนของแถลงการณ์เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น


มรดกยุค คสช.
นิคมอุตสาหกรรมจะนะ.jpg
  • การเคลื่อนไหวเมื่อปี 2563

ย้อนไปเมื่อปี 2562 ห้วงสุดท้ายของ ‘รัฐบาล คสช.’ ได้ผุดเมกะโปรเจคต์เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต รวมมูลค่าการลงทุน 600,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือถึงปี 2565 ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ปักหมุดไว้ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ผลักดันผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

นำโดย ‘พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี พี่ใหญ่แห่ง คสช. ก่อนชงให้ ครม.ไฟเขียว ‘จะนะ’ กลายเป็น ‘เขตพัฒนาเศรษฐกิจเฉพาะกิจ’ เนรมิตพื้นที่ดังกล่าวให้กลายเป็น ‘ผังเมืองสีม่วง’ เอื้อให้กลุ่มทุนอุตสาหกรรมเข้าใช้ประโยชน์ขุมทรัพย์แห่งทะเลไปโดยปริยาย

ข้อท้วงติงของคนท้องถิ่น ก่อนจะเริ่มกระบวนการต่อสู้อย่างเป็นรูปธรรม มองว่าการผลักดันโครงการครั้งนี้คือ “เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เลือก”

จะนะ
  • แม้ชุมนุมโดยสันติ แต่ คฝ.ยังเข้าสลายการชุมนุมนับร้อยนาย

รู้กันทั่วไปว่า 'โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ' มีตัวละครสำคัญคือ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เจ้าสัวอาณาจักรปิโตรเคมี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) และอดีตหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย หนึ่งในกลุ่มทุนที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันโครงการ มีเป้าหมายยกระดับเศรษฐกิจพื้นที่ชายแดนใต้ให้รองรับอุตสาหกรรมโลกยุคใหม่จากภาคเอกชน


จิ๊กซอว์สัมพันธ์อำนาจ

สำหรับ ‘ประชัย เลี่ยวไพรัตน์’ เป็นผู้คร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจไทย เขาเคยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง ยังผลให้ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูธุรกิจ ก่อนเริ่มต้นเส้นทางการเมืองด้วยตำแหน่งเลขาธิการพรรคประชาราช

กระทั่งเมื่อปี 2550 นั่งหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ร่วมกับแกนนำจากกลุ่มวังน้ำยม สมศักดิ์ เทพสุทิน และอนุชา นาคาศัย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในพรรคพลังประชารัฐ และรัฐบาลประยุทธ์

อีกทั้งบัญชีรายชื่อผู้สนับสนุนการจัดระดมทุน หรือ ‘โต๊ะจีนพลังประชารัฐ’ อันลือเลื่องนั้น ยังปรากฏชื่อบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 ล้านบาท, บริษัททีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 3 ล้านบาท 

โต๊ะจีนพลังประชารัฐ
  • งานระดมทุนพลังประชารัฐ

โดยเฉพาะหลังการเคลื่อนไหวของเครือข่ายจะนะรักษ์ท้องถิ่น เมื่อปี 2563 ในการเรียกร้องให้ทบทวนโครงการ

‘เจ้าสัวอาณาจักรปิโตรเคมี’ ได้ออกมาแสดงความเห็นด้วยการส่งหนังสือถึง ศอ.บต . เรื่อง “การแสดงจุดยืนของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อ.จะนะ จ.สงขลา ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

ตอนหนึ่งระบุว่า “ทีพีไอพีพี เป็นหนึ่งในบริษัทที่แสดงจุดยืนสำคัญของแกนนําภาคเอกชนในการลงทุน “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” อ.จะนะ ในฐานะเมืองต้นแบบที่ 4 “เมืองอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” ตามนโยบายของรัฐบาล ใคร่ขอกราบขอบคุณเลขาธิการ ศอ.บต. รวมทั้งฝ่ายบริหารรัฐบาลที่เกี่ยวข้องทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจในการให้บริษัทฯ เข้าไปร่วมพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเปิดพื้นที่ใหม่ของกลไกการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่

“ระยะต่อไปบริษัทฯ จะเร่งเข้าไปชี้แจงสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้ความร่วมมือกับเอกชนดำเนินการพัฒนาทุกขั้นตอน ทั้งนี้การดำเนินการที่ผ่านมาข้อมูลที่สื่อไปถึงประชาชนยังอาจจะไม่ครบถ้วนที่จะตอบคําถามทุกท่านให้ชัดเจนได้ในเวลานั้น แต่บริษัทฯ รับรองคํามั่นว่า ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป บริษัทฯ จะเริ่ม การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 ซึ่งจะเป็นกระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้น”


จากโต๊ะจีนถึงนิคมจะนะ
S__20365360-767x1024.jpeg
  • บัญชีรายชื่อผู้สนับสนุน

ภาพความชัดเจนยิ่งเป็นรูปธรรมมากขึ้น หากเชื่อมรอยต่อจากข้อมูลชุดนี้ ต่อคำถามของสังคมว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ ถึงเลือกผืนดินจะนะเป็นพิกัดตั้งโครงการ

10,800 ไร่ บนพื้นที่ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” คือตัวเลขที่ถูกกว้านซื้อจาก ‘ประชัย เลี่ยวไพรัตน์’ และ ‘บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)’ ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่เข้าไปจับจองพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2540

ที่น่าสนใจคือการอภิปรายไม่ไว้วางรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล โดย ‘ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์’ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล สัดส่วนภาคใต้ อภิปราย ‘นิพนธ์ บุญญามณี’ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงมหาดไทย อีกจิ๊กซอว์สำคัญในการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมจะนะ

จะนะ
  • ตั้งหมู่บ้านทวงคำสัญญา

โดย ส.ส.ก้าวไกล เปิดโปงว่าโครงการดังกล่าว มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังของนักการเมืองใหญ่ในพื้นที่ สมัยที่ ‘นิพนธ์’ ดำรงตำแหน่งนายกฯ อบจ.สงขลา เมื่อปี 2561 ได้เข้าพบ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เพื่อหารือแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจชายแดนใต้ จนนำไปสู่การอนุมัติในสมัยรัฐบาล คสช.

ตอนหนึ่ง ‘ประเสริฐพงษ์’ ชี้ว่ากลุ่มทุนที่จะเข้ามาในโครงการมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับ รมช.มหาดไทย และเป็นหนึ่งในกลุ่มที่มอบเงินให้โต๊ะจีนพรรคพลังประชารัฐ โดยแผนพัฒนาครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตคนพื้นที่ สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น

“ถ้าเกิดนิคมอุตสาหกรรม มูลค่าที่ดิน 464 ไร่ ที่ TPIPP รับซื้อมาตรงนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 1,300 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าที่ชาวบ้านขายให้เครือข่ายครอบครัวนายนิพนธ์ 12 เท่าตัว นี่คือแค่ส่วนเดียว ส่วนน้อย ถ้าคิดเขตผังเมืองสีม่วงทั้งหมดที่เป็นที่ตั้งโครงการจะนะ 16,753 ไร่ จะทำให้มีเม็ดเงินไปอยู่ในกระเป๋าของบริษัท TPIPP ไม่ต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท นี่แค่เรื่องที่ดินอย่างเดียว ยังไม่รวมโรงไฟฟ้า ยังไม่รวมปิโตรเคมี”

โดยเขานิยามเครือข่ายการขับเคลื่อนโครงการเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะนะว่า "นายทุนคิด ทหารดัน นักการเมืองหาประโยชน์"

มหากาพย์การต่อสู้ของบุตรแห่งท้องทะเลจะนะ ยังคงดำเนินไปโดยยังไม่มีข้อยุติ เมื่อคำสัญญาที่เลื่อนลอย กลายเป็นแรงผลักดันให้คนจะนะมุ่งหน้าสู่เมือง ส่งเสียงให้โลกได้ยิน โดยบันทึกข้อตกลงของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯขณะนั้น มีข้อยุติร่วมกับชาวบ้าน เมื่อปี 2563 ดังนี้

1.รัฐบาลต้องมีมติยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการโครงการเมือง ต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทุกฉบับ รวมทั้งยุติการดำเนินโครงการจะนะเมืองต้นแบบนิคมอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตทั้งหมด ทั้งการแก้ไขผังเมือง และการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ EA, EHIA ในทันที

1.1 คณะกรรมการผังเมือง และกรมโยธาธิการและผังเมืองต้องยกเลิกกระบวนการแก้ไขผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา พ.ศ.2554 โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2562

1.2 หน่วยงานรัฐและเอกชนเจ้าของโครงการภายใต้โครงการเมืองต้นแบบอุดสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ต้องไม่ดำเนินกระบวนการใดๆ ที่เกี่ยวกับโครงการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นศึกษารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EA) กระบวนการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) หรือการดำเนินการอื่นใด จนกว่ากระบวนการตามข้อ ๒ จะแล้วเสร็จ

2. รัฐบาลต้องจัดให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA)จังหวัดสงขลา โดยมีหลักการประเมินประเมิน คือ ประเมินบนฐานทรัพยากรของพื้นที่ศักยภาพของระบบนิเวศ การประเมินจะต้องยึดถือหลักการว่าจะพัฒนาพื้นที่สงขลาบนฐานศักยภาพของทรัพยากรอย่างไร การประเมินยุทธศาสตร์เพื่อออกแบบการพัฒนาต้องคำนึงถึงการเติบโตชองคนท้องถิ่นเป็นหลัก

ส่วนกลุ่มทุนภายนอกเป็นปัจจัยเสริมเพื่อเข้ามาต่อยอดศักยภาพของพื้นที่ และการประเมินเชิงยุทธศาสตร์ให้ยึดหลักการการกระจายรายได้ของประชาชน ความเป็นธรรมของคนและระบบนิเวศ มีการเดิบโตอย่างยั่งยืน อันเป็นการสร้างชุดข้อมูลทางวิซาการที่มีคุณภาพประกอบการตัดสินใจทางเลือกการพัฒนาจังหวัดสงขลาที่เหมาะสม

2.1 ต้องตั้งคณะทำงานที่งมีสัดส่วนการของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ภาคประชาชนเสนอในสัดส่วนที่เหมาะสง เพื่อวางกรอบการศึกษาการเมินผลกระทบสิ่งแวคล้อมในดับยุทธศาสตร์ (SEA) ร่วมกัน โดยกระบนนการทำงานให้ดำเนินการประเงินศักยภาพทและพัฒนาต่อยอดจากทรัพยากรของท้องถิ่น และใบการศึกษานี้ต้องไม่มี สอ.บต. เป็นผู้มีส่วนในการดำเนินการจัดทำ

2.2 การคัดเลือกผู้ที่จะมาดำเนินการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวตล้อมในระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย และให้เป็นไปตามหลักการ ข้อ 2

2.3 ในกระบวนการศึกษา คณะอนุกรรมการกำกับติดตามและแก้ไขปัญหาโครงการเมืองตันแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อำเภอจะนะ จังหวัดสงชลา ต้องมีการระบุหน้าที่ในการกำกับติดตาม โดยมีอำนาจในการเข้าถึงข้อมูลการศึกษา ตรวจสอบ และให้ข้อเสนอแนะต่อผู้ดำเนินการศึกษาได้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักการ ข้อ 2

2.4 กระบวนการตรวจสอบและการให้ความเห็นชอบต่อรายงานการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระตับยุทธศาสตร์ (SEA) ต้องมีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และนักวิชาการที่ประชาชนคัดเลือกด้วย โดยให้เป็นไปตามหลักการข้อ 2

พิชิตศักดิ์ แก่นนาคำ
ผู้สื่อข่าว Voice Online
91Article
1Video
0Blog