ไม่พบผลการค้นหา
เรื่องราวการต่อสู้ของเหล่าผู้ปฏิบัติงานที่ รพ.อุดรธานี โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ในพื้นที่สีแดง ที่ออกมาทวงสิทธิตามนโยบายรัฐบาล เกี่ยวกับค่าเสี่ยงภัยและเงินตอบแทนต่างๆ ที่ต้องได้รับเพิ่มเติม หลังการต่อสู้กันมากว่า 2 เดือน ดูเหมือนเรื่องราวก็ยังไม่คลี่คลายจนปัจจุบัน

โควิดระบาดมาแล้ว 2 ปี และประเทศไทยกำลังเตรียมจะเปิดประเทศโดยยังไม่แน่ชัดว่าการระบาดจะพุ่งขึ้นอีกหรือไม่ ผู้ที่ต้องเตรียมรับมือคนแรกๆ คือ ด่านหน้าสาธารณสุข แต่ดูเหมือนผู้ปฏิบัติงานจริงยังมีบางส่วนไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง

บุคลากรทางการแพทย์นำโดยทีมพยาบาลของโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี รวมตัวกันออกมาประท้วงเมื่อ 18 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา ส่งเสียงให้สังคมได้ทราบว่า บรรดาด่านหน้าอย่างพวกเขายังไม่ได้เงินค่าเสี่ยงภัยและเงินพิเศษต่างๆ ที่รัฐกำหนดไว้ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2563 ทั้งที่เพื่อน รพ.อื่นๆ ได้กันหมดแล้ว มีการร้องเรียนไปยังทุกหน่วยงานตั้งแต่เดือนกันยายน แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

โรงพยาบาลอุดรธานีเป็นโรงพยาบาลศูนย์ มีเตียงประมาณ 1,000 เตียง แต่รองรับคนไข้ราว 1,200 เตียงเสมอมา ในช่วงปี 2563 อุดรธานีถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ 'สีแดง' ซึ่งมีการระบาดสูง

1.ค่าเสี่ยงภัย - ตีความแคบ คนเสี่ยงหน้างานไม่ถูกนับ

เดือนกุมภาพันธ์ 2563 รัฐบาลมีนโยบายสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรด่านหน้า รับมือกับโควิดระลอด 1-2 โดยประกาศเพิ่ม 'ค่าเสี่ยงภัย' รายผลัด (ผลัดละ 8 ชั่วโมง) ให้แพทย์ผลัดละ 1,500 บาท พยาบาลและบุคลากรสนับสนุนด้านอื่น ผลัดละ 1,000 บาท นับตั้งแต่มีนาคม-กันยายน 2563

ในหลักเกณฑ์กลางระบุชัดว่า ครอบคลุมผู้ปฏิบัติงานที่ด่านควบคุมโรค, ผู้ที่ต้องสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ป่วยโควิด, การตรวจวินิจฉัยสิ่งส่งตรวจ, การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด, งานคัดกรองติดตามเฝ้าระวัง

ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อ รพ.อุดร ตีความให้ค่าเสี่ยงภัยนี้กับ 'บุคลากรที่ดูแลผู้ป่วยโควิดเท่านั้น' ซึ่ง รพ.อุดรธานีมีผู้ป่วยติดโควิดยืนยัน 8 ราย แต่ไม่ได้นับรวมบุคลากรที่ต้องคัดกรองผู้ป่วยเสี่ยงสูงที่ต้องเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคที่ช่วงเวลาดังกล่าวมีถึง 694 ราย หรือกรณีการตรวจสอบยืนยันผลด้วย RTPCR อีก 334 ราย ต่อมาผู้บริหารตีความหลักเกณฑ์ใหม่และให้มีการจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ปฏิบัติงานที่ต้องได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยส่งให้ภายหลัง ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่ได้รับเงินค่าเสี่ยงภัยทั้งที่รพ.อื่นๆ ได้รับแล้ว

บุคลากรรพ.อุดรฯ ให้ข้อมูลด้วยว่า รพ.แม้แต่ระดับอำเภอทุกแห่งในจังหวัดอุดรธานีก็ตีความการเสี่ยงภัยครอบคลุมบุคลากรที่ต้องพบเจอกับผู้ป่วยที่ไม่รู้ว่าตนติดโควิดหรือไม่อย่างครอบคลุมแทบจะ 100% กรณีของรพ.อำเภอกุมภวาปี เคยมีการตีความให้ค่าเสี่ยงภัยเฉพาะกับบุคลากรที่ดูแลคนป่วยโควิดยืนยัน แต่สุดท้ายก็ได้รับการทักท้วงและผู้อำนวยการได้มีจดหมายขออุทธรณ์ต่อกระทรวง เพื่อแก้ไขให้บุคลากรได้รับค่าเสี่ยงภัยอย่างทั่วถึงทั้งหมด จึงอยากให้รพ.อุดรธานีทำการอุทธรณ์เช่นเดียวกัน  

2.เงินเพิ่มพิเศษตามคำสั่ง สธ. ได้ไม่ครอบคลุม

เรื่องต่อมาคือ กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ 'เงินเพิ่มพิเศษรายเดือน' แก่ผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์โควิด โดยผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ได้เดือนละ 1,500 บาท ผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนได้เดือนละ 1,000 บาท ตั้งแต่มีนาคม-กันยายน 2563 แต่บุคลากรร้องเรียนว่า รพ.อุดรธานีไม่ได้ปฏิบัติตามนโยบายในส่วนนี้ โดยจ่ายให้บุคลากรไม่ครอบคลุม และไม่มีคำชี้แจงหลักเกณฑ์การคัดเลือกจาก รพ.

3. เพิ่มเงินเดือน 1% ได้แค่ 600 คนจาก 3,400 คน

ประเด็นต่อมาคือ ในเดือนเมษายน 2563 รัฐบาลกำหนดให้จัดสรรโควตาความดีความชอบพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุข โดยผู้ปฏิบัติงานทั้งกลุ่มผู้ปฏิบัติงานโดยตรงและกลุ่มผู้ปฏิบัติงานสนับสนุนได้รับการเลื่อนเงินเดือนเพิ่มขึ้นจากการเลื่อนเงินเดือนปกติอีกร้อยละ 1 ของฐานในการคำนวณต่อรอบการประเมิน ทั้งนี้ เมื่อรวมการเลื่อนเงินเดือนกรณีปกติกับการเลื่อนเงินเดือนกรณีพิเศษแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละ 6 ของฐานในการคำนวณ 

เรื่องนี้บุคลากร รพ.อุดรฯ ระบุว่า มีคำสั่งด้วยวาจาว่า ให้มีการประเมินเลื่อนระดับโดยไม่เกินร้อยละ 4 แทนที่จะเป็นร้อยละ 6 ตามนโยบายรัฐ และปรากฏว่ามีผู้ได้รับการปรับเงินเดือนเพิ่มร้อยละ 1 ดังกล่าว เพียง 600 คน จากบุคลากรทั้งรพ.ที่มีอยู่ 3,423 คน ในจำนวนนี้เป็นพยาบาลข้าราชการราว 1,700 คน โดยตีความให้เฉพาะผู้ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยโควิด ทั้งยังไม่มีการแจ้งเกณฑ์นี้ต่อทุกหน่วยในรพ. และยังพบว่า บางคนไม่ได้ปฏิบัติงานกับผู้ป่วยโควิดแต่ก็ได้รับสิทธิในส่วนนี้ด้วย

4.ค่าออกฉีดวัคซีน บางคนได้ 1,000 บางคนไม่ได้

บุคลากร รพ. อุดรฯ ร้องเรียนว่า มีการปฏิบัติโดยไม่เท่าเทียมในการออกปฏิบัติงานฉีดวัคซีน ซึ่งพยาบาลที่ออกทำหน้าที่นี้ต้องได้ค่าเสี่ยงภัยผลัดละ 1,000 บาทเพิ่มเติม แต่ปรากฏว่ามีพยาบาลจำนวนหนึ่งที่ถูกเรียกให้มาปฏิบัติงานฉีดวัคซีนในวันหยุด พวกเขาได้ค่าตอบแทนเป็น OT ปกติ ผลัดละ 600 บาท และไม่ได้ค่าเสี่ยงภัยเช่นคนอื่นๆ

เสียงจากคนหน้างาน

พยาบาลอาวุโสที่อยู่ในรพ.อุดรธานีรายหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า บุคลากรในรพ.พยายามสอบถามกับผู้บริหารหลายครั้งแต่ไม่ได้รับคำตอบหรือเหตุผลที่น่าพอใจ

“ในเมื่อใช้เกณฑ์เดียวกัน ทำไมตีความไม่เหมือนกัน ฟังประชุมเหมือนกันหมดทั้งจังหวัดอุดร มีรพ.อุดรแห่งเดียวเท่านั้นที่ตีความไม่เหมือนคนอื่น จึงเกิดเรื่องขึ้น”

“หลักเกณฑ์ค่าเสี่ยงภัย เขาเขียนอนุโลมให้ทหาร ตำรวจ ผู้ที่เกี่ยวข้องที่ยืนตรวจด่านตรวนคนเข้าเมืองด้วย เขาไม่ต้องวัดความดัน ไม่ต้องแตะคนไข้ด้วยซ้ำ แล้วพวกเราอยู่ตรงนี้เราเสี่ยงไหม ทั้งญาติทั้งคนไข้ที่เดินมาหาเรา 3,000 คนต่อวัน ถ้ารับประกันได้ว่าเขาเนกาทีฟ ไม่ติดเชื้อสักคนเดียว เราก็จะไม่เอาเงินส่วนนี้ที่เราควรได้"

“เราขอคุยด้วยก็ไม่มีใครกล้าคุย ส่งแค่รองแพทย์มาและงานทรัพยากรบุคคลที่เข้าประชุมกับเรา เราก็เลยไม่เข้าใจ เราเรียกร้องมา 2 เดือนแล้ว ร้องผู้ว่าฯ แล้วจากนั้นก็ร้องไปที่กระทรวงสาธารณสุข เขาก็เขียนจดหมายมาบอกว่า กำลังดำเนินการแต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จึงต้องออกไปร้องทุกข์วันที่ 18 ต.ค. ตอนนี้เราส่งเรื่องไปที่สภาการพยาบาลด้วยเพื่อดูบทบาทของสภาในเรื่องนี้”

“พอมีการระบาดโควิด เราต้องมีมาตรการเพิ่มเติมมาก ต้องซักประวัติคนไข้ทุกกลุ่ม ทุกรายทุกกรณี ต้องวัดไข้ คัดกรอง 100% เพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ทำทุกวันตั้งแต่มีนาคม 2563 หัวหน้าห้องต้องวางนโยบายต่างๆ การบันทึกจะต้องมีข้อมูลการคัดกรอง 100% แบบฟอร์มเปลี่ยน กว่าเราจะวางระบบได้ยุ่งยากมากขึ้น เราต้องประกาศว่า ถ้าคนไข้ช่วยตัวเองไม่ได้ขอให้ญาติมาได้ 1 คน มีการอบฆ่าเชื้อห้องตรวจทุกเดือน ปี 63 เราใส่แมสก์อันเดียว ปีนี้ใส่สองชั้นและเฟซชีล ส่งยาทางไปรษณีย์ก็ลำบากกว่าตรวจอีก ต้องเช็คชื่อที่อยู่ ต้องโทรติดตาม ประสานหลายฝ่าย ผู้บริหารไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่เราทำอยู่มันหนักแค่ไหน”

“บุคลากรก็ทำงานหนัก อย่างกลุ่มหนึ่งมีเจ้าหน้าที่ 6 คนในทีม หนึ่งคนถูกแบ่งไปฉีดวัคซีน หนึ่งคนถูกแบ่งไปโรงพยาบาลสนามโดยไม่มีอัตรากำลังทดแทน คนที่เหลือต้องทำงานแทน แบบนี้ไม่หนักเหรอ พวกเราไม่ใช่ฟันเฟืองตัวหนึ่งเหรอที่ให้การสนับสนุนการป้องกันการแพร่กระจาย”

“OPD ตรวจคนไข้นอก มีเจ้าหน้าที่ 134 คน หัวหน้างานให้เพิ่มเงินเดือน 1% แค่ 20 คน แต่ระดับหัวหน้างานได้รับเงินหมดทุกประเภท ยกเว้นพวกปฏิบัติงาน เราถามว่าบางคนได้บางคนไม่ได้เพราะอะไร เขาบอกว่า คนที่ได้คือไป ARI ไปสอบสวนคนที่ติดเชื้อยืนยัน แล้วคนที่เราคัดกรองทุกวันเขาไม่เสี่ยงหรือย่างไร ตัวอย่างเช่น กลางเดือนที่ผ่านมา มีคนไข้มาตรวจติดตามโรคประจำตัวกับเรา กลับบ้านไปสองวันปรากฏมีอาการ กลับมาตรวจก็พบว่าติดโควิด ลักษณะแบบนี้ถือว่าพวกเราเสี่ยงไหม”

"พวกเราเศร้าใจมากกับเรื่องนี้" พยาบาลอาวุโสกล่าวสรุป

โรงพยาบาลอุดรฯ ชี้แจง

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น รพ.อุดรฯ ได้ทำหนังสือชี้แจงออกมาเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ว่า

โรงพยาบาลอุดรธานีได้รับเรื่องการร้องเรียนทั้งหมดตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.2564 และได้ดำเนินการประชุมชี้แจงต่อกลุ่มผู้ร้องทุกข์ และดำเนินการติดประกาศคำชี้แจงในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ย.2564 มีรายละเอียดดังนี้

1. การเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษสำหรับบุคลากรสาธารณสุขผู้ปฏิบัติงานในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ตั้งแต่เดือน มี.ค.63-ก.ย.63 โรงพยาบาลอุดรธานี ได้ส่งรายชื่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดขออุทธรณ์ตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติที่กระทรวงการคลังกำหนด ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการของกองบริหารการคลัง สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขที่จะโอนเงินให้แก่โรงพยาบาลอุดรธานี จึงยังไม่มีคำสั่งการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่บุคลากรสาธารณสุข

2. การเบิกจ่ายค่าตอบแทนเสี่ยงภัยรายผลัดของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในการเฝ้าระวังสอบสวน ป้องกัน ควบคุมและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ทางโรงพยาบาลอุดรธานีได้เบิกจ่ายเดือนเม.ย. -มิ.ย.2564 ให้แก่เจ้าหน้าที่แล้ว คงเหลือเดือนก.ค. - ก.ย.2564 ซึ่งอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการเบิกจ่าย เมื่อถูกต้องครบถ้วนแล้วจะดำเนินการเบิกจ่ายต่อไป

-----

จากคำถามของบุคลากร 4 ข้อสำหรับปีงบประมาณ 2563 ดูเหมือนรพ.จะตอบเพียงข้อแรก ส่วนข้อที่สองนั้นเป็นเรื่องของปีงบประมาณ 2564 จึงยังคงต้องติดตามต่อไปว่าเรื่องนี้จะคลี่คลายเช่นไร ท่ามกลางความกดดันระหว่างผู้ปฏิบัติงาน-ผู้บริหาร ของ รพ.อุดรธานีที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ