ไม่พบผลการค้นหา
คปภ. ประกาศ กลุ่มผู้ป่วย Home Isolation สามารถเรียกร้องค่าประกันภัยโควิด-19 จากบริษัทประกันภัยได้

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) ออกคำสั่งนายทะเบียนด่วน ให้ผู้เอาประกันภัยที่สามารถแยกกักตัวที่บ้าน Home Isolation ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลได้

สำนักงาน คปภ.ชี้แจงข้อสรุปการหารือร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ว่า ระบบประกันภัยควรจะเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ โดยได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 43/2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 44/2564 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการให้ความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย 

ทั้งนี้ หากตรวจพบว่าผู้เอาประกันภัยติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการดูแลรักษาแบบดังกล่าว โดยกรณีกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ให้สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลจากวงเงินความคุ้มครองผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ หรือกรณีตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ 

ส่วนกรณีกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเป็นผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ก็ให้อนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินผลประโยชน์ในกรมธรรม์ 

นอกจากนี้ ยังให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณี Home Isolation หรือ Community Isolation หากมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาล เช่น อยู่ในกลุ่มเสี่ยงแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยจ่ายตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวัน สูงสุด 14 วัน นับแต่วันที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาลแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ 

อีกทั้งคำสั่งนายทะเบียนนี้ยังเปิดช่องให้บริษัทประกันภัยสามารถจ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร นอกเหนือจากการจ่ายตามที่คำสั่งกำหนด โดยคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าว มีผลใช้บังคับกับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย ทั้งก่อนและหลังวันที่มีคำสั่ง (วันที่ 29 กรกฎาคม 2564) จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

เมืองไทยประกันชีวิต ประกาศขยายคุ้มครอง

สาระ ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่สถานพยาบาลที่รองรับการรักษาผู้ป่วยมีไม่เพียงพอ ดังนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด 19 ในรูปแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation ของกระทรวงสาธารณสุข และคำสั่งนายทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตลอดจนเป็นการมอบความอุ่นใจ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าของเมืองไทยประกันชีวิต ด้วยการดูแลที่ครอบคลุม พร้อมรองรับสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสมนั้น

บริษัทฯ ได้ขยายความคุ้มครองการจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับผู้เอาประกันภัยที่มีความคุ้มครองสุขภาพทุกแบบที่มีค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (IPD) ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก (OPD) และชดเชยรายวัน ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 และแพทย์ผู้ดูแลรักษาของหน่วยบริการสาธารณสุขเห็นสมควรให้สามารถแยกกักตัวในที่พัก (Home Isolation) หรือแยกกักตัวในชุมชน (Community Isolation) ได้ ตามหลักเกณฑ์และแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

บริษัทฯ จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดโควิด 19 ที่เข้าระบบการรักษาในรูปแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation ในกรณีที่เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกหรือผู้ป่วยใน โดยจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็นทางการแพทย์และที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย

สำหรับการจ่ายค่าชดเชยรายวันสำหรับผู้เอาประกันภัยที่ติดเชื้อโควิด 19 ผู้เอาประกันภัยต้องมีเอกสารที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อโควิด 19 โดยแพทย์ผู้ดูแลรักษา และมีความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในสถานพยาบาล แต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ โดยบริษัทฯ จะจ่ายค่าชดเชยรายวันไม่เกิน 14 วันนับแต่วันที่ปรากฎในหลักฐานที่แสดงถึงความจำเป็นทางการแพทย์ที่ต้องรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ในสถานพยาบาลแต่ไม่มีสถานพยาบาลรองรับ

“เรายังคงมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้นโยบาย “MTL Trusted Lifetime Partner” ที่พร้อมดูแลและเดินเคียงข้างในทุกช่วงของชีวิต ซึ่งการขยายความคุ้มครองด้านค่ารักษาพยาบาลสำหรับลูกค้าที่ติดเชื้อโควิด 19 และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลแบบ Home Isolation หรือแบบ Community Isolation นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เมืองไทยประกันชีวิต ได้นำออกมาเพื่อสร้างความอุ่นใจและบรรเทาความเดือนร้อนให้กับลูกค้าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 นี้” สาระ กล่าว