ไม่พบผลการค้นหา
ประเมินเสียงศึกแก้ รธน. 13 ฉบับในวาระที่หนึ่ง พปชร.ประกาศชัดโหวตให้ร่างแก้ไข รธน.พรรคเพื่อไทย เพื่อความสมานฉันท์ ด้าน ปชป.ลั่นโหวตรับทุกร่าง ส่วนเพื่อไทย ยังหยั่งเชิง

วันที่ 23 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้เป็นบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ , ยกเลิกอำนาจวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรี, ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ตลอดจนการแก้ไขเกี่ยวกับประเด็นสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

ไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ให้สัมภาษณ์ 'วอยซ์' ว่า พรรค พปชร.ต้องการเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เป็นไปแบบสมานฉันท์ ดังนั้น แนวทางการโหวต นอกจากจะโหวตให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรค พปชร.เสนอแล้ว ยังจะโหวตให้ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้านในประเด็นมีความสอดคล้องกับร่างของ พปชร.

เช่น จะโหวตให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ในประเด็นระบบการเลือกตั้ง โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โหวตให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล ในประเด็นการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อย่างไรก็ตาม พรรค พปชร.ไม่เห็นควรแก้ไขการตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี

ชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรค ปชป.เห็นควรโหวตรับหลักการ 13 ร่างแก้ไขรัฐธรรม โดยได้เตรียมผู้อภิปรายสนับสนุนร่างแก้ไขของ 3 พรรคร่วมรัฐบาล คือ ปชป. ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา ประกอบด้วย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ องอาจ คล้ามไพบูลย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง ชัยชนะ เดชเดโช ส.ส.นครศรีธรรมราช อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี และตน

ภูมิใจไทย รัฐสภา -C256-4A83-A0AE-2405E41591C4.jpeg

ชินวรณ์ กล่าวว่า ในส่วนของพรรคอภิปรายนั้น พรรค ปชป.จะย้ำจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้เป็นไปตามหลักสากล ไม่ว่าจะเป็น ส.ว.ต้องไม่มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี การทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ต้องไม่ติดกับดักเสียงข้างน้อยอย่าง ส.ว. นอกจากนี้ ยังจะย้ำให้เห็นว่าระบบการเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวนั้นมีปัญหา ไม่โปร่งใส สมควรได้รับการแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ ปชป.ยืนยัน ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นทางออกของประเทศ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทย ภายหลังญัตติยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เปิดทางให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ไม่ถูกนำมาบรรจุวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ทางพรรคเพื่อไทย ก็ย้ำจุดยืน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกรัฐมนตรี และสนับสนุนให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

มีคำถามว่า หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ไม่ได้รับการสนับสนุนจาก ส.ว.แล้วนั้น พรรคเพื่อไทย จะโหวตให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเดียวกันของพรรค พปชร.หรือไม่ เรื่องนี้ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา และเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า เราขอฟังการอภิปรายก่อน เพราะเราต้องการดูรายละเอียด และหลักการในร่างดังกล่าว ก่อนจะตัดสินว่าจะมีมติอย่างไร  

ทางด้านพรรคภูมิใจไทย เห็นพ้องยกมือให้ 8 ร่างการที่ยื่นร่วมกับพรรค ปชป.และพรรคชาติไทยพัฒนา ที่เสนอให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ, แก้ไขยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ฯลฯ แต่จะไม่เอาด้วยกับร่างของฝ่ายค้านอย่างแน่นอน

ขณะที่พรรคก้าวไกล ไม่สนับสนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะเห็นว่าเป็นการปูทางให้พรรค พปชร.กลับมายิ่งใหญ่ สามารถเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกครั้ง อย่างไรก็ตาม พรรคก้าวไกล เห็นด้วยกับการตัดอำนาจ ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรี และการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ประชุมรัฐสภา สภา -CFE2-4D5F-AFE2-463D9E42FFC7.jpeg

ส่วนของพรรคชาติไทยพัฒนา มีแนวทางการลงมติสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 3 พรรคร่วม แต่จะไม่โหวตตัดอำนาจ ส.ว. เพราะเห็นว่าจะไม่ได้รับความเห็นชอบจาก ส.ว. และเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความขัดแย้ง

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา วราวุธ ศิลปอาชา ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ประเด็นใดที่เป็นความขัดแย้งเราขอพักไว้ก่อน

ปิดท้ายที่ในส่วนของ ส.ว. มีแนวโน้มไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขอำนาจของตัวเองในการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่จะให้ ส.ว.โหวตไม่เห็นด้วยก็กระไรอยู่ ดังนั้น เวลาโหวต หาก ส.ว.จะเดินออกจากห้องประชุม ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะผลไม่ต่างกัน คือรัฐสภาไม่รับหลักการแก้ไขอำนาจ ส.ว.

ส่วนประเด็นอื่นๆ ส.ว.มีแนวทางโหวตให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรค พปชร.และของพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นที่ไม่กระทบต่อระบบการเมืองมากนัก  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง