ไม่พบผลการค้นหา
"มีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอดเพื่อให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยและอนามัยของผู้บริโภคได้"

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกฎกระทรวง กำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง พ.ศ. 2564 ความว่าอาศัยอำนาจตามความใน (3) ของบทนิยามคำว่า "เครื่องสำอาง" ในมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ ให้ ผ้าอนามัยชนิดสอด ที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือนเป็น เครื่องสำอาง

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ นิยามของคำว่า “เครื่องสำอาง” ในมาตราที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกระทรวงเป็นเครื่องสำอาง

และโดยที่มีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอดเพื่อให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยและอนามัยของผู้บริโภคได้ สมควรกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ด้าน พชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้ผ้าอนามัยแบบสอดเป็นเครื่องสำอางว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษี แต่เพื่อเป็นการควบคุมตามกฎหมายของสาธารณสุข โดยในส่วนของกรมศุลกากรยืนยันว่าไม่มีนโยบายเพิ่มอัตราภาษีสินค้าผ้าอนามัยแบบสอดแต่อย่างใด ที่สำคัญหากมีการนำเข้าโดยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ก็จะได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าอีกด้วย

ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมฯไม่มีนโยบายจัดเก็บภาษีผ้าอนามัยเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย และไม่เคยกำหนดผ้าอนามัยอยู่ในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตด้วย โดยปัจจุบันผ้าอนามัยเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่านั้น ไม่ได้เสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยหรือมีเพดานการจัดเก็บภาษีที่สูงแต่อย่างใด เนื่องจากสินค้าผ้าอนามัยไม่ได้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เป็นสินค้าที่มีความจำเป็น ที่ผู้หญิงต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

“ในนิยามการเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย คือ ถ้าไม่มีใช้ก็ไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน แต่ถ้าส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันก็ถือว่าเป็นสินค้าที่ไม่ฟุ่มเฟือย โดยปัจจุบันกรมสรรพสามิตมีการจัดเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพียงรายการเดียว คือ น้ำหอมในอัตราภาษีตามมูลค่าที่ 8%” ลวรณ กล่าว