ไม่พบผลการค้นหา
นายก อบต.พันท้ายนรสิงห์ ชายผู้อาสาสร้าง รพ.สนาม รองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในที่ดินขนาด 8 ไร่ของตัวเอง “ในฐานะผู้นำ ผมต้องตัดสินใจ” เขากล่าว

ในวันที่โควิด-19 โหมกระหน่ำไปที่ ‘จังหวัดสมุทรสาคร’ จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายพันคน ชาวบ้านพากันตื่นตระหนก ราชการส่วนกลางเต็มไปด้วยข้อจำกัดและความล่าช้าในการจัดการ ‘วัฒนา แตงมณี’ ตัดสินใจมอบที่ดินขนาด 8 ไร่และเงินทุนสร้าง ‘โรงพยาบาลสนาม’ ขนาด 1,000 เตียง

“ในฐานะผู้นำ ผมต้องตัดสินใจเพื่อบ้านเมืองของผม” นายกองค์การบริหารส่วนตำบล พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บอกเหตุผลที่ยอมให้ภาครัฐพัฒนาที่ดินส่วนตัวรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 


หน้าที่ผู้นำ – ไหนๆ ก็เจ๊งแล้ว  

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2563 ภายหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ภาครัฐต้องการพื้นที่สร้าง รพ.สนาม เพื่อรองรับผู้ป่วย ทว่ากลับถูกคัดค้านจากชาวบ้านที่แสดงออกด้วยความไม่พอใจ เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อน โดยหนึ่งในนั้นคือพื้นที่ ‘สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์’ ที่วัฒนาและภรรยา จรีภรณ์ ตั้งตระกูลเจริญ เป็นเจ้าของร่วมกับ สมบัติ วงศ์วิเศษสุข ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธนาสุขแลนด์ จำกัด

“ผมคุยกับหุ้นส่วนว่า ไหนๆ ก็เจ๊งแล้ว เงินสดหมดไปเกือบ 400 ล้าน ธุรกิจสวนน้ำมันพังไปแล้ว เรามาช่วยเหลือสังคมดีกว่า พื้นที่ไหนให้ได้ ให้”

อย่างไรก็ตาม ‘สวนน้ำพันท้ายนรสิงห์’ ไม่ได้รับการอนุมัติจากชาวบ้าน “น้อยใจเหมือนกัน อธิบายจนเสียงแหบแล้ว” เขาบอกก่อนตัดสินใจเบนเข็มเลือกที่ดินเปล่าขนาด 8 ไร่ มูลค่าราว 40 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ รองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม ในย่านรอยต่อกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร

“โควิดมันเหมือนโรคที่ระบาดในบ่อปลาคราฟ เราต้องแยกตัวที่ติดโรคออกมา ไม่งั้นเราตายกันทั้งบ่อ เวลานี้โทษใครไม่ได้ ถ้าทำได้ เราต้องทำ” วัฒนาบอก “ก่อนหน้านี้มีคน(ตำบล)พันท้ายฯ ติดโควิด ต้องถูกส่งไปที่รักษาตัวนครปฐม ผมในฐานะผู้นำได้ยินแบบนั้นแล้วสะเทือนใจ”

2.jpg

เขาขยายความว่าต้องการกอบกู้ชื่อเสียงของจังหวัดที่เสมือนตกเป็นผู้ร้ายของคนทั้งประเทศ รวมถึงต้องการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในยามยาก ไม่ว่าเขาจะเป็นชนชาติใด โดยเฉพาะเมียนมาที่เป็นคนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย 

นายก อบต. 3 สมัย วัย 48 ปี ย้ำว่าไม่รู้สึกเป็นปัญหากับการเสียสละพื้นที่ส่วนตัวในยามวิกฤตเพื่อส่วนรวม และไม่คิดถือโทษส่วนกลางที่ไม่สามารถจัดหาพื้นที่ได้ 

“ผมเข้าใจการบังคับใช้กฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่ไม่เหมือนเอกชน ภาครัฐมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก การเอาเงินหลวงมาใช้แต่ละครั้งมันใช้เวลาและไม่ทันกับสถานการณ์” 

เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้าน วัฒนาประกาศว่าพร้อมจ่ายเงิน 5 แสนบาท หากชาวพันท้ายนรสิงห์เสียชีวิตเพราะโควิด 

“เมื่อผมเอาผู้ติดเชื้อโควิดมาไว้ที่นี่แล้ว ถ้าประชาชนของผม ในตำบลพันท้ายฯ ไปติดแล้วตาย ผมให้ศพละ 5 แสน” 


เล่นการเมืองเพราะเจอโกง 

วัฒนาเกิดและโตที่ ตำบลพันท้ายนรสิงห์ ได้รับวิธีคิดและซึบซับการเมืองท้องถิ่นมาบ้างจากคุณพ่อที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน 

เขาเริ่มทำงานเป็นนายหน้าขายที่ดิน หาเงินเองได้ตั้งแต่อายุแค่ 17 ปี ขณะเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 5 โดยภายหลังสึกจากการเป็นพระ เขาเปิดบริษัทรับเหมาก่อสร้าง กระทั่งเจอจุดเปลี่ยนที่ทำให้ตัดสินใจลงเล่นการเมือง 

“เจอพวกโกง รีดไถ่เรา จุดประกายให้ผมอยากเล่นการเมืองและสัญญากับตัวเองว่าเราจะซื่อสัตย์ ผมไม่รับงานหลวงและปิดบริษัททิ้งทันที” วัฒนาย้อนอดีตเมื่อครั้งอายุ 26 ปี เป็นหนุ่มไฟแรงและเริ่มงานในฐานะสมาชิก อบต. ก่อนไต่เต้าก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ ในอีก 10 ปีถัดมา และนับถึงวันนี้ก็กินเวลา 3 สมัยแล้วในตำแหน่งดังกล่าว

“เราจะไม่ทำตัวเหมือนที่เราถูกกระทำ อบต.ของผมต้องไม่มีส่วย ไม่มีเงินเปอร์เซ็นต์ นี่คือสิ่งที่ผมต้องการ”

วัฒนาที่รู้จักผู้คนมากหน้าหลายตาในพื้นที่ตามแบบฉบับนักการเมืองท้องถิ่น เรียนจบระดับปริญญาตรีจาก สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และ ป.โท จากสาขาเดียวกัน ที่ ม.รามคำแหง ซึ่งเขาบอกว่าการเรียนเปลี่ยนวิธีคิดเขาไปอย่างสิ้นเชิง 

“เมื่อก่อนผมเป็นนักเลง เกเร แต่หลังจากได้เรียนรู้แล้ว ผมใจเย็นและมีลำดับความคิดที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในทางการเมือง ที่ผมรู้จักเอาศัตรูมาเป็นมิตร”

4.jpg

ไม่อยากถูกเรียกว่า ไอ้พวกเหี้ย

ความฝันของวัฒนาคือการทำให้การเมืองท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจอีกต่อไป 

“เอ่ยชื่อไปปั๊บคนรักให้ได้ ไม่ใช่เอ่ยชื่อไปแล้วคนบอกว่า โอย..ไอ้พวกเหี้ย หาผลประโยชน์” นายก อบต.บอกว่าเคยได้ยินคนด่าทอแบบนี้แล้วสะเทือนใจถึงขั้น “คิดลาออก” แต่ทำไม่ได้เพราะ “ที่นี่คือบ้านเกิดของผม”

การปกครองส่วนท้องถิ่นในเมืองไทยยังเต็มไปด้วยปัญหาและอุปสรรคที่เฝ้ารอวันแก้ไข 

หนุ่มใหญ่วัย 48 ปีสะท้อนว่ากุญแจสำคัญที่ทำให้ท้องถิ่นพัฒนาคือ ข้อกฎหมายและระบบที่ต้องปฏิรูป สิ่งเหล่านี้เป็นตัวถ่วงความเจริญ ทำให้การดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ ล่าช้าและไม่นำไปสู่ผลลัพธ์ตามที่คาดหวัง

ปัจจุบันนอกเหนือจากบทบาทนายก อบต. เขายังเป็นนักธุรกิจและผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยทำการซื้อขายที่ดินและเปิดหอพักให้เช่า รวมถึงธุรกิจสวนน้ำที่ถูกปิดชั่วคราวเพราะพิษโควิด “ผมไม่ได้รวยนะ สวนน้ำก็เจ๊ง หนี้ก็เป็น” เขาออกตัว 

ทั้งนี้ รพ.สนาม ขนาด 1,000 เตียงบนพื้นที่ 8 ไร่ หรือในชื่อ ศูนย์ห่วงใยคนสาคร ตั้งอยู่ที่ภายในโครงการวัฒนาแฟคตอรี่ คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ใน 15 วัน พร้อมรองรับผู้ป่วยภายในเดือน ม.ค. นี้ 

วัฒนา แตงมณี


5.jpg

ภาพประกอบจาก สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสมุทรสาคร

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog