กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้า 2 โครงการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ตั้งเป้าผลักดันราคายางพารา ให้อยู่ที่ระดับ 66 บาทต่อกิโลกรัม
กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าแก้ปัญหาราคายางพารา หลังได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งอนุมัติโครงการแก้ปัญหายางทั้งระบบ ปี 2557 แบ่งเป็น 2 โครงการ ได้แก่ โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยาง เพื่อขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักร วงเงิน 1 หมื่น 5 พันล้านบาท ผ่านธนาคารออมสิน เพื่อสนับสนุนการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางมูลค่าสูง เช่น ถุงมือยาง ยางรถยนต์ เป็นต้น
โดยให้เงินกู้ ไม่เกิน 10 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ซึ่งรัฐ จะชดเชยดอกเบี้ยให้ธนาคารออมสิน ร้อยละ 3 คาดว่าจะทำให้การใช้ยางพารา เพิ่มเป็น 3 แสนตันต่อปี เบื้องต้น มีผู้ประกอบการยื่นความจำนงแล้ว 9 ราย คิดเป็นวงเงิน 7 พัน 7 ร้อยล้านบาท
ส่วนโครงการสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารพาณิชย์ 6 แห่ง คือ ธนาคารกรุงเทพ , กรุงไทย ,กสิกรไทย , ไทยพาณิชย์ , ทหารไทย และธนชาต เพื่อให้ผู้ประกอบการซื้อน้ำยามาแปรรูปยางเก็บไว้ในสต๊อก และลดปริมาณยางในตลาด โดยเป็นเงินกู้ระยะสั้น ไม่เกิน 1 ปี คิดดอกเบี้ยแบบเดียวกับโครงการแรก คาดว่าจะช่วยดูดซับปริมาณยางเข้าสู่ระบบได้ 2 แสนตัน ส่งผลให้ราคายางเพิ่มขึ้น 2-3 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ มีราคาเป้าหมายผลักดันราคายางให้อยู่ที่ 66 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม จะนัดหารือกับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 6 แห่ง และผู้ประกอบการในวันที่ 27 ตุลาคม เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนดำเนินงานต่อไป
ด้านกระทรวงพาณิชย์ เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว วันที่ 24 ตุลาคมนี้ พิจารณามาตรการดูแลราคาข้าว โดยจะดูดซับผลผลิตออกจากตลาดให้ได้กว่า 1 ล้านตัน และเพิ่มวงเงินสินเชื่อสำหรับการประกันยุ้งฉาง เป็นร้อยละ 90 ของมูลค่าข้าวที่เกษตรกรนำมาจำนำ โดยราคาข้าว ขณะนี้ ยังไม่น่าเป็นห่วง ข้าวขาวเฉลี่ยอยู่ที่ ตันละ 8,200-8,300 บาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ต้องการผลักดันให้อยู่ที่ 8,500 บาท และข้าวหอมมะลิ เฉลี่ยอยู่ที่ 16,000 บาท
ส่วนการยื่นซองประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาล ล็อตที่ 3 ปริมาณกว่า 2 แสนตัน จะเปิดให้ยื่นซองเสนอราคา วันที่ 28 ตุลาคมนี้ โดยการระบายข้าว 2 ครั้งที่ผ่านมา ได้อนุมัติขายข้าวไปแล้วกว่า 1 แสน 5 หมื่นตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1,700 ล้านบาท