ไม่พบผลการค้นหา
โลกของเราจะเป็นอย่างไรในปี 2015?
Jan 1, 2015 01:42

ปี 2014 ที่ผ่านมา โลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมืองมาอย่างต่อเนื่องและหนัก หน่วง แต่ในปี 2015 โลกอาจต้องเจอกับอะไรบ้างหรือเปลี่ยนแปลงอย่างไร และมีเหตุการณ์สำคัญไหนที่น่าจับตามอง

เงินสกุลรูเบิลอ่อนค่า ราคานํ้ามันตกตํ่า เศรษฐกิจซบเซา โรคระบาดร้ายแรง ภัยก่อการร้ายจากมุสลิมสุดโต่ง และการแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครน ทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นในปี 2014 เหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากต่างคาดการณ์สถานการณ์ของโลกในปี 2015 ว่า จะไม่ต่างอะไรจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ที่ประเทศทั่วโลกต่างเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดก็เป็นผลพวงมาจากสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่เกิดขึ้นตลอดปี 2014 นั่นเอง

ในปี 2015 เศรษฐกิจโลกจะเดินมาถึงทางแยก โดยเฉพาะเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวและถดถอยรอบใหม่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินได้ รวมทั้งจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง จะไม่ใช่แค่คนจีนเท่านั้นที่ต้องวิตก ผู้คนทั่วโลกก็คงต้องหวั่นใจไม่แพ้กัน เพราะเศรษฐกิจจีน เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกแทบประเทศแล้วในเวลานี้

ส่วนรัสเซียที่กำลังเผชิญกับค่าเงินรูเบิลอ่อนค่า ก็มีความชัดเจนตั้งเมื่อช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาแล้ว ว่ารัสเซียจะต้องเผชิญกับภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 2015 อย่างแน่นอน และเศรษฐกิจอาจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า ส่วนราคานํ้ามันในตลาดโลก นักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่า ราคานํ้ามันจะยังคงผันผวน แต่มีท่าทีว่าราคาจะดีดตัวขึ้นราว 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงกลางปีหน้า แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีฝ่ายใดเข้ามาแก้ปัญหาอุปทานล้นเกิน หลังราคานํ้ามันตกตํ่าลงเหลือเพียง 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นิตยสารดิอีโคโนมิสท์ของอังกฤษมองว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจาก ขบวนการชาตินิยมโดยเฉพาะในทวีปยุโรปที่เติบโตและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น และด้วยอุดมการณ์ชาตินิยมที่พื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อาจส่งผลต่อการความอยู่รอดทางเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก ผู้นำประเทศหลายคนไม่ว่าจะเป็น นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น และนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ล้วนแล้วแต่ชูนโยบายการปฏิรูปที่วางอยู่บนพื้นฐานของอุดมการณ์ชาตินิยมแทบทั้งสิ้น 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกโดยรวมน่าจะเติบโตมากกว่าปี 2014 เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ราวร้อยละ 3.4-3.5 ขณะที่ การแพร่ระบาดของโรคเชื้อไวรัสอีโบลาที่มีแน้วโน้มว่าผู้ติดเชื้อจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นในแอฟริกาตะวันตกถึง 1.4 ล้านคนในปี 2015 

การแบ่งแยกดินแดนในภาคตะวันออกของยูเครนและกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS ยังคงดำเนินอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการเมืองโลก โดยเว็บไซต์ Global Conflict Tracker ของสหรัฐฯ ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ อาจถูกกลุ่ม IS โจมตีบนแผ่นดินของตัวเองอีกครั้ง

ส่วนเวทีการประชุมของโลกที่น่าจับตาในปี 2015 คือ การประชุมสุดยอดผู้นำทวีปอเมริกา เพราะการประชุมครั้งนี้ ผู้นำสหรัฐฯและคิวบาจะเข้าหารือเป็นครั้งแรกในรอบครึ่งศตวรรษ หลังเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตรอบใหม่เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม 

ส่วนบทบาทของสมเด็จพระสันตปาปาฟรานซิส ประมุขสูงสุดของคริสตจักรโรมันคาทอลิก ก็น่าจับตาไม่แพ้กันหลังเป็นตัวกลางเชื่อมความสัมพันธ์ครั้งใหม่ของสหรัฐฯ-คิวบา มีการคาดเดาว่าโป๊ปฟรานซิสจะเป็นผู้เชื่อมสันติภาพเรื่องใดต่อไป ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าพระองค์จะทรงรับหน้าที่เป็นตัวกลางการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์

ด้านเทคโนโลยีในปีหน้า มีการคาดการณ์ว่า สมาร์ทโฟนจะมีราคาถูกลงเพราะมีการแข่งขันกันสูง ส่วนแอปพลิเคชันจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของเรามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะแอปพลิเคชั่นสำหรับการท่องเที่ยว ที่จะช่วยแนะนำให้เราสามารถเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆได้ง่ายขึ้น ส่วนแก๊ดเจ็ทที่น่าจับตามมองนั่นคือ Apple Watch ที่กำลังจะเปิดตัวในปี 2015 ที่มาพร้อมคุณสมบัติอัจฉริยะ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล ตรวจสอบสภาพอากาศ รวมทั้ง ออกคำสั่งเปิดปิดไฟฟ้าภายในบ้านได้อีกด้วย

ทางด้านสังคม ทัศนคติที่ชาวโลกมีต่อกลุ่มคนรักเพศเดียวกันนั้น จะถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายอย่างชัดเจนคือ กลุ่มคนต่อต้านและกลุ่มสนับสนุน นอกจากนี้ประชาชนในโลก จะมีความเป็นเสรีนิยมมากยิ่งขึ้นด้วย อันเนื่องมาจาก คนรุ่นมิลเลนเนียมหรือคนที่เกิดในทศวรรษที่ 1990 - 2000 ได้เติบโตขึ้นมาแล้ว คนรุ่นนี้มีความเป็นเสรีนิยมทางการเมือง สังคม ความเชื่อ และวัฒนธรรม มากกว่าคนรุ่นก่อนหน้า

ปิดท้ายกันที่ภูมิภาคอาเซียนของเรา นายโจชัวร์ เคอร์แลนซิค นักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง เจ้าของผลงานหนังสือ "Democracy In Retreat" หรือ "ความถดถอยของระบอบประชาธิปไตย" คาดการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ประชาธิปไตยในอาเซียน โดยกล่าวถึงประเทศไทยว่า รัฐบาลทหารจะเลื่อนการเลือกตั้งออกไปในปี 2016 หรือ 2017 อย่างแน่นอน เพราะกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ล่าช้า ประกอบกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะตํ่ากว่าร้อยละ 4 ตามการคาดการณ์ของธนาคารโลกหรือ World Bank ขณะที่ ฟิลิปปินส์เติบโตร้อยละ 7 อินโดนีเซียร้อยละ 5.6 และเวียดนามร้อยละ 5.5      

ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปของเมียนมาร์ในปีหน้า นางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน จะไม่ได้เป็นประธานาธิบดีตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ เนื่องจาก พรรค NLD ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้นางซูจีซึ่งมีสามีเป็นชาวต่างชาติขึ้นดำรงตำแหน่งได้ และสิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดของอาเซียนคือ นโยบายปฏิรูปของนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนแรก ที่ไม่ได้มาจากชนชั้นนำทางการเมืองว่าจะนำพาอินโดนีเซียไปทางไหน 

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
187Article
76559Video
0Blog