จิตรา คชเดช เจ้าของป้าย “ดีแต่พูด” บอกเล่าเส้นทางการต่อสู้จากแรงงานสตรีในโรงงาน ตั้งแต่ปี 2536 ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเป็นตัวแทน “สหภาพแรงงาน” ต่อรองกับนายจ้าง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกจ้าง เธอทำงานกับโรงงานผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ยาวนานถึง 16 ปี จนกระทั่งถูกปลดออกเมื่อปี 2551 อันเป็นผลจากบทบาทการต่อสู้ด้านแรงงาน และบทบาทการคัดค้านรัฐประหาร จนถูกกล่าวหาด้วยข้อหาที่ละเอียดอ่อนทางการเมืองเรื่องสถาบันเบื้องสูง
จิตรา บอกเล่าสาเหตุที่ชูป้าย “ดีแต่พูด” ในเวทีเสวนาที่จัดขึ้นในวันสตรีสากล เพราะเตรียมตัวจะขึ้นเวทีเสวนาเดียวกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานเป็นนายกรัฐมนตรีปาฐกถานำ จึงใช้ป้าย “ดีแต่พูด” เพื่อสื่อความหมายว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีสื่อสารออกมา ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย หรือการอภิปรายในสภา ส่วนใหญ่ปฏิบัติจริงไม่ได้ตามที่พูด
จิตรา ยอมรับป้าย “ดีแต่พูด” ทำให้บุคคลสาธารณะที่ใช้ภาษีของประชาชนต้องตระหนักและรับผิดชอบต่อคำพูด มิใช่พูดโดยไม่รับผิดชอบ
นักต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงาน ยังเป็นแกนนำสำคัญในการเรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน และทวงคืนความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ด้วยการมอบแว่นขยายเป็นสัญลักษณ์ให้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
Produced by VoiceTV