ไทย แอร์เอเชีย ประกาศแผนธุรกิจปีหน้าเปิดเส้นทางบินเพิ่มไปอินเดีย-อินโดจีน ส่วนในประเทศเน้นที่การเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินในจังหวัดรองมากขึ้น คาดผู้โดยสารปีหน้าเพิ่มเป็น 16,500,000 คน
นายธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย แอร์เอเชีย เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2559 ว่า เตรียมรับมอบเครื่องบินแอร์บัส เอ320 เพิ่มอีก 5 ลำ ทำให้ในปีหน้า ไทยแอร์เอเชียจะมีฝูงบินทั้งหมด 50 ลำ รองรับแผนการเปิดเส้นทางบินใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยเส้นทางบินต่างประเทศนั้น ไทยแอร์เอเชียเตรียมบินไปประเทศอินเดีย 2-3 เมือง อาทิ เมืองกัลกัตตา ซึ่งเป็นเมืองที่เคยเปิดเส้นทางบินมาแล้วในช่วงก่อนหน้านี้ และเมืองใหม่ ๆ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอินเดีย และออสเตรเลียที่นิยมไปเที่ยวอินเดีย รวมถึงเส้นทางบินใหม่ไปประเทศจีนกับเมืองในกลุ่มประเทศอินโดจีน อาทิ สปป.ลาว และเวียดนาม โดยเล็งบินเข้าเมือง ดานัง เพื่อให้สอดรับกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่วนเมืองในเมียนมา เมืองที่สนใจเปิด เส้นทางบินคือพุกาม ซึ่งปัจจุบันสนามบินบากันมีความพร้อม แต่ไม่มีผู้บริหารลานจอด เพื่อรองรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ
ส่วนแผนเปิดเส้นทางบินใหม่ในประเทศ จะเพิ่มความถี่เที่ยวบินในเส้นทางบินเมืองรองใหม่ ๆ ที่เป็นเมืองที่มีศักยภาพในภาคเหนือและอีสาน เช่น น่าน เลย ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ และนครพนม ส่วนจุดหมายใหม่ในภาคอื่น ๆ ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอกรมท่าอากาศยานขยายสนามบินแม่สอด จังหวัดตาก และสนามบินเบตง จังหวัดยะลา รวมถึงให้ความสำคัญกับการเพิ่มอัตราบรรทุกผู้โดยสาร หรือ โหลดแฟกเตอร์ โดยคาดว่าปีหน้าจะมีจำนวน ผู้โดยสารเพิ่มเป็น 16 ล้าน 5 แสนคน จากเดิม 14 ล้าน 5 แสนคนในปีนี้ มีโหลดแฟกเตอร์ประมาณ 83% ใกล้เคียงกับปีนี้ โดยจะยังคงเน้นปั้นให้ฮับการบินที่สนามบินอู่ตะเภาและกระบี่ให้แข็งแรงกว่า ที่เป็นอยู่ก่อนที่จะเพิ่มฮับการบินแห่งที่ 6 ในอนาคต" นายธรรศพลฐ์กล่าวและว่า
สำหรับจังหวัดกระบี่ ไทย แอร์เอเชียได้วางกลยุทธ์ให้เป็นอีกหนึ่งฮับบินในภาคใต้ มีเครื่องบินประจำการ 1 ลำ โดยตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก คาดว่าในปีหน้าจะมีจำนวนผู้โดยสารในฮับบินกระบี่เพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้าน 5 แสนคน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทย แอร์เอเชีย กล่าวว่า เทรนด์การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์แอร์ไลน์ ในประเทศไทยช่วง 10 ปีนับจากนี้ จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 2-3% ส่งผลให้มาร์เก็ตแชร์ตลาด โลว์คอสต์แอร์ไลน์ในไทยเพิ่มขึ้นจาก 43% ในปีนี้ เป็น 46% ในปีหน้า และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าน่าจะอยู่ที่ระดับ 60-65% ใกล้เคียงกับภูมิภาคยุโรปที่สายการบิน โลว์คอสต์ครองส่วนแบ่งถึงราว 70-75% ขณะที่สายการบินพรีเมียมครองสัดส่วนเพียง 25% เท่านั้น