แม้เราจะเคยได้ยินมาว่า การได้รับคอเลสเตอรอลชนิดดีสูงเท่าไหร่ ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจได้ แต่ผลการวิจัยล่าสุดของสหรัฐอเมริกาบอกว่า หากได้รับสูงเกินไปจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
โดยปกติเราจะแบ่งคอเลสเตอรอลออกเป็น 2 ชนิด คือคอเรสเตอรอลชนิดดี หรือ HDL และ ชนิดไม่ดี หรือ LDL ซึ่งก่อนหน้านี้เราจะพบว่างานวิจัยหลายชิ้นให้ข้อมูลว่าร่างกายจะต้องไม่ได้รับคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีมากเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพราะคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีเหล่านี้จะไปเกาะตามผนังหลอดเลือด ส่งผลให้เกิดภาวะอุดตันในเส้นเลือด และนำไปสู่โรคหัวใจได้ ซึ่งคอเลสเตอรอลที่ไม่ดีเหล่านี้ จะพบในเนื้อสัตว์ติดมัน และ อาหารทะเล เป็นต้น
ส่วนคอเลสเตอรอลชนิดดี ร่างกายจะต้องได้รับในปริมาณมาก คือต้องมากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร เพราะคอเลสเตอรอลชนิดดีเหล่านี้จะทำหน้าที่พาไขมันที่ไม่ดีต่างๆไปยังตับเพื่อย่อยสลาย ยิ่งมีมากก็จะยิ่งทำให้ไขมันถูกย่อยสลายได้มาก และลดการเกิดโรคหัวใจได้
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดนักวิจัยจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยวัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ได้เปิดเผยข้อมูลว่า คอเลสเตอรอลชนิดดีดังกล่าว ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อร่างกายเสมอไป หากได้รับในปริมาณที่มากเกินไป ก็สามารถส่งผลให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ด้วย นักวิจัยได้ทำการวิจัยกับผู้ชายจำนวน 1 ล้าน 7 แสนคน เป็นเวลากว่า 10 ปี พบว่า พวกเขาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยอายุเฉลี่ย 30 ปี เหตุเพราะมีคอเลสเตอรอลชนิดดีที่มากเกินไป แต่อย่างไรก็ตามการได้รับคอเลสเตอรอลชนิดดีระดับต่ำเกินไปก็ส่งผลเสียเช่นกัน ซึ่งจะพบในผู้ป่วยโรคไต
สรุปคือ ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดีที่ร่างกายควรได้รับอยู่ที่มากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่ห้ามเกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร โดยอาหารที่มีคอเลสเตอรอลชนิดดี ได้แก่ ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี อาหารที่มีไขมันไม่อิ่มตัว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด เมล็ดแฟลกซ์ซี้ด ถั่วเหลือง ผักใบเขียว และถั่วเปลือกแข็งโดยเฉพาะวอลนัท เป็นต้น