แนวโน้มรัฐบาลจัดระเบียบอาหารริมทางกำลังระบาดในอาเซียน เช่น เวียดนาม และอินโดนีเซีย ด้านสื่อนอกรายงานว่า สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก อยู่ระหว่างการร่างกฎระเบียบและคู่มือแนะนำวิธีจัดการกับร้านอาหารริมทางให้แก่รัฐบาลในเอเชีย
สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลเวียดนามออกแคมเปญปราบปรามอาหารริมทาง ในกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ โดยในกรุงฮานอย เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งลงพื้นที่ปราบร้านอาหารริมทางตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยหากพบเห็นว่าขายในพื้นที่ห้ามขายจะถูกปรับเป็นเงินสด แม่ค้าคนหนึ่งระบุว่า ถูกปรับจำนวน 9 ดอลลาร์หรือ 300 บาท ซึ่งเท่ากับรายได้จำนวนถึง 2 วัน
ในกรุงจาการ์ตา รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามขับไล่พ่อค้าแม่ค้าริมทางเช่นกัน โดยสำนักข่าวนิวยอร์กไทม์สรายงานวา ในกรุงจาการ์ตา ร้านอาหารริมทางบางแห่งถูกบังคับให้จ่ายค่าดูแลความปลอดภัยและค่าทำความสะอาด ปีละหลายพันดอลลาร์โดยตามข้อมูลของทางการกรุงจาการ์ตา ตั้งแต่ปี 2015 ที่ผ่านมา มีร้านอาหารริมทาง 17,000 แห่ง ถูกย้ายไปในพื้นที่ที่รัฐบาลจัดให้ ขณะเดียวกัน ยังมีร้านอาหารริมทางราว 60,000 แห่ง ที่ละเมิดกฎหมาย ซึ่งเหตุผลที่รัฐเร่งจัดการกับร้านอาหารริมทาง เนื่องจากต้องการจัดระเบียบทางเท้า และดูแลความสะอาดในเมือง
การปราบปรามอาหารริมทางของ 2 เมืองหลวงที่ขึ้นชื่อเรื่องสตรีทฟูดในอาเซียน รวมถึงแผนการจัดระเบียบอาหารริมทางของรัฐบาลไทย เป็นที่ถกเถียงอย่างมากทั้งในกลุ่มสื่อและประชาชน โดยศาสตราจารย์จอห์น วอล์ช จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยชินวัตร มองว่าโครงการปราบปรามอาหารริมทาง มักถูกประกาศจากคนทีไม่ต้องกังวลเรื่องการรับประทานมื้อกลางวันของตน และแสดงความกังวลว่าแผนการปราบปรามดังกล่าว ทำให้การจัดการกับอาหารริมทางในระยะยาวเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน
ด้านนักวิเคราะห์คนอื่นๆมองว่า แผนของรัฐบาลในอาเซียนที่ต้องการทำแบบรัฐบาลสิงคโปร์ ที่ประสบความสำเร็จในการจัดระเบียบสตรีทฟูดในช่วงทศวรรษที่ 1960 ทำได้ยาก เนื่องจากแผนการปราบปรามในลักษณะนี้ เป็นแผนที่ไม่รอบคอบ ไร้การวางแผน และมีอคติต่อชนชั้นล่าง
ขณะเดียวกัน นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ขณะนี้องค์การอนามัยโลก และองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) อยู่ระหว่างการพิจารณากฎระเบียบสำหรับการขายอาหารริมทางในเอเชีย โดยมาตรการดังกล่าวจะกำหนดกระบวนการด้านความสะอาด และคู่มืออย่างคร่าวๆสำหรับรัฐบาลในการจัดการกับอาหารริมทาง