ช่วง2-3ปีที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดจากการใช้บริการรถแท็กซี่ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ถูกหยิบยกมาพูดถึงบ่อยขึ้น โดยเฉพาะประเด็นความปลอดภัย การตรวจสอบประวัติของคนขับ และปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร เนื่องจากเกิดเหตุการณ์หลายครั้ง ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทั้งคนขับแท็กซี่และผู้โดยสาร
ภาครัฐพยายามหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด กรมการขนส่งทางบก จับมือกับสถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ยกระดับแท็กซี่ไทย โดยการออกแบบระบบที่จะถูกติดตั้งภายในรถแท็กซี เช่น เครื่องอ่านใบขับขี่ ที่จะเชื่อมต่อกับระบบในรถแท็กซี่ เช่น ระบบแสดงสัญญาณไฟว่าง การติดตั้งปุ่มกดฉุกเฉิน สำหรับคนขับและผู้โดยสารสำหรับการแจ้งเตือนเหตุด่วนเหตุร้าย โดยทั้งระบบจะเชื่อมต่อกับเครื่องอ่านใบขับขี่ ที่หากไม่ใช่ใบขับขี่ของเจ้าของรถแท็กซี่ ระบบต่างๆ จะไม่สามารถทำงานได้ และระบบดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับศูนย์ควบคุมการให้บริการอีกทอดหนึ่ง
สำหรับศูนย์ควบคุมการให้บริการ เป็นหน่วยงานกลางที่ สจล.เสนอให้เป็นผู้ดูแลทั้งคนขับแท็กซี่และผู้โดยสาร โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างกรมการขนส่งทางบกและรถแท็กซี่ ในการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ ซึ่ง สจล.เสนอให้เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยบริหารจัดการ เพื่อจัดการแท็กซี่ที่มีอยู่จำนวนมากอย่างทั่วถึง โดยตามข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก มีแท็กซีขึ้นทะเบียนกับกรมขนส่งทั้งหมด ราว 93,000 คัน
อีก 1 เทคโนโลยีของสจล. ที่จะนำมาใช้เพื่อยกระดับแท็กซี่ คือแอพพลิเคชั่น TAXI Ok ที่มีวิธีการทำงานคล้ายกับแอพพลิเคชันเรียกรถโดยสารรายอื่นๆ โดยเมื่อผู้โดยสารกดเรียกรถจากสหกรณ์ใดก็ตาม จะทำให้ข้อมูลจากรถส่งไปยังศูนย์บริหารจัดการอีกทอดหนึ่ง โดยแอพพลิเคชันนี้จะทำงานเชื่อมต่อกับระบบในรถแท็กซีที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะทำให้การจัดการรถแท็กซี่เป็นไปอย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การติดตั้งระบบภายในรถแท็กซี่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณาโดยกรมการขนส่งทางบก โดยคาดว่าน่าจะประกาศใช้เป็นกฎหมายภายในสิ้นปีนี้ ด้านแอพพลิเคชัน TAXI OK จะไม่มีการบังคับใช้อย่างเป็นทางการ โดยรุ่นที่ สจล.นำมาเสนอ เป็นเพียงโนฮาว ที่ศูนย์บริการแท็กซี่ในอนาคตสามารถพัฒนาต่อยอดได้ต่อไป