"การโดนข่มขืนไม่ใช่ความอัปยศของผู้หญิง แต่การไปข่มขืนคนอื่นต่างหากที่เป็นเรื่องน่าอาย"
นางสาว ธารารัตน์ ปัญญา นศ. นิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์กล่าวว่า
“เราต้องการ empower คนที่เป็นเหยื่อในการถูกล่วงละเมิดทางเพศให้ออกมากล้าพูด”
หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ มีคนในแวดวงปัญญาชน นักกิจกรรม โพสต์เฟซบุคว่า “คุณไม่ควรไม่ดื่มเหล้ากับเพื่อนต่างเพศสภาวะแล้วไปนอนอยู่ด้วยกัน”
“ผมเถียงกับแนวคิดเฟมินิสต์มาโดยตลอด ว่ามนุษย์ไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมตัวเองได้ และคุณไม่ควรไปทดสอบมัน...คนที่ไม่ได้เล็งเห็นผลอันตรายที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คนที่รู้ปรัชญา แต่เป็นคนโง่”
Feminism ไม่เคยพูดว่า “มนุษย์ควบคุมตัวเองได้” แต่ Feminism พูดเรื่อง ความสมดุลย์ของอำนาจ สิ่งที่เฟมินิสต์ ต่อสู้ ไม่ใช่ต่อสู้เพื่อให้ผู้หญิงได้สวมกางเกง หรือ เป็นนักเพาะกายได้เหมือนผู้ชาย เราไมได้ต่อสู้เพื่อจะเหมือนผู้ชาย แต่ต่อสู้เพื่อให้สังคมตระหนักถึงอุดมการณ์ “ชายเป็นใหญ่” ที่ครอบงำอยู่ในทุกมิติในชีวิตประจำวันของเรา
คนที่พูดว่า “คุณไม่ควรไม่ดื่มเหล้ากับเพื่อนต่างเพศสภาวะแล้วไปนอนอยู่ด้วยกัน”
คือตัวอย่างของคนที่อยู่ในโครงสร้างสังคมชายเป็นใหญ่ นั่นคือ เชื่อว่า บทบาททางเพศเชิงรุก เป็นบทบาททางเพศของผู้ชายโดยธรรมชาติ ดังนั้น ผู้หญิงไม่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ชายได้สำแดง
“ด้านมืด” ที่เป็นธรรมชาติของตัวเองออกมา
ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะไม่ออกไปดื่มเหล้ากับผู้ชาย
เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่ต้องแต่งตัวให้มิดชิด
เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะไม่ไปเดินในซอยเปลี่ยว
เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่จะไม่กลับบ้านดึก
เป็นหน้าที่ของผู้หญิงที่หากต้องกลับบ้านดึก แล้วต้องให้มีคนมารับ
จะให้ดี ผู้หญิงควรเรียกร้องให้มีรถไฟที่มีตู้โดยสารผู้หญิงโดยเฉพาะ ที่ลานจอดรถของผู้หญิงโดยเฉพาะ อยู่หอพักหญิงล้วน ฯลฯ
ภายใต้แนวคิดเช่นนี้เองที่ทำให้เกิดการก่อรูปของคอนเสปท์ “ผู้หญิงที่ดี” ขึ้นมาเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ว่าผู้หญิงดี คือผู้หญิงที่ไม่ไปไหนตามลำพัง โดยเฉพาะผู้หญิงที่ไม่ใช่ชนชั้นล่าง ผู้หญิงที่ดีต้องแต่งตัวอย่างมิดชิด หัวเราไม่เห็นฟัน ไม่หวีผม ไม่ทาลิปสติกในที่สาธารณะ ไม่ดื่มเหล้า ไม่คุยกับผู้ชายสองต่อสอง ไม่ต้องเรียหนนังสือเยอะ เพราะการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านมากเกินไปย่อมไม่ปลอดภัยกับผู้หญิง ไม่สามารถไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกร เพราะเท่ากับต้องไปใช้ชีวิตท่ามกลางผู้ชาย ทำให้ไม่ปลอดภัยต่อผู้หญิงเอง
สุดท้าย ด้วยแนวคิดเช่นนี้ จึงทำให้ผู้หญิง ยิ่งอ่อนแอ ไร้ความสามารถ ดูคล้ายกับคนพิการ เพราะขยับตัวทำอะไรก็อนตรายกับชีวิตนเองเสียหมด
เฟมินิสต์ ต่อสู้เรื่องเหล่านี้ จนผู้หญิงในหลายๆสังคมสามารถออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะได้ โดยได้รับการเคารพจากเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้ชาย ผู้หญิง เป็นหมอ เป็นวิศวกร ออกมาทำงานนอกบ้าน เป็นนักข่าวภาคสนามในพื้นที่สงครามได้ โดยไม่ถูกฉุดคร่า ข่มขืน
แต่สังคมที่มีพลังของความเป็นสังคมชายเป็นใหญ่ เช่น บางประเทศในตะวันออกกลาง ยังคงมีวิธีคิดเช่นนี้อย่างเข้มแข็งมาก เช่น ที่ซาอุ มีเคสที่ผู้หญิงถูกลงโทษทั้งเฆี่ยนและจำคุก ข้อหามีชู้ จากการที่เธอถูกข่มขืน และตั้งท้อง
ที่จอร์แดน เพิ่งยกเลิกกฎหมาย ให้เหยื่อที่ถูกข่มขืน ต้องแต่งงานกับชายที่ข่มขืนเธอ
ในประเทศเหล่านี้ผู้หญิง ต้องปกคลุมร่างกายอย่างมิดชิด ไม่สามารถใช้ชีวิตนอกบ้านร่วมกับผู้ชายได้ ต้องทำกิจกรรมกับผู้หญิงด้วยกันเอง ขับรถไม่ได้ ทำงานนอกบ้านไม่ได้ เล่นกีฬากลางแจ้งก็ไม่ได้ จะใส่ชุดโยคะเดินไปเดินมาในตลาดก็ไม่ได้ – เพราะเป็นพฤติกรรมที่ อาจเสี่ยงต้อการทำให้ตัวเองถูกข่มขืน อาจไปปลุกเร้าความกระหายทางเพศของผู้ชาย นี่คือ สิ่งที่เฟมินิสต์ต่อสู้ คือต่อสู้ว่า กับคติของชายเป็นใหญ่ ที่บอกว่า ผู้ชายคุมความหื่นไม่ได้ ดังนั้นผู้หญิงต้องไม่ประพฤติตนในทางที่จะไปปลุกเร้าผู้ชาย
ซึ่งถ้าเราไม่สู้เรื่องนี้ สุดท้ายมันจะนำมาซึ่งการจำกัดเสรีภาพของผู้หญิงออกไปเรื่อยๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
Source:
https://hilight.kapook.com/view/158514