ยูเอ็นเรียกร้องให้มีการวางทิศทางใหม่สำหรับเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า นโยบายรัดเข็มขัดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม
การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ UNCTAD ครั้งล่าสุดได้เสนอให้มีการวางทิศทางใหม่ให้กับเศรษฐกิจโลกอย่างเร่งด่วน หลังจากหลายปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องอยู่กับนโยบายรัดเข็มขัด ซึ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมยิ่งกว่าเดิม โดย UNCTAD ระบุว่า เศรษฐกิจโลกไม่เพียงแต่ไม่สมดุลจนทิ้งคนบางกลุ่มไว้เบื้องหลัง แต่ยังขาดเสถียรภาพและอันตรายต่อสุขภาพทางการเมือง สังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย
นโยบายรัดเข็มขัดที่หลายประเทศนำมาใช้ตั้งแต่ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ทำให้การลงทุนชะงักลง และทำลายความมั่นคงด้านการงานอาชีพของคนหลายล้านคน โดยแรงงานหวาดกลัวว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์จะมาแย่งงาน มากกว่าจะมาช่วยให้การทำงานของพวกเขามีประสิทธิภาพขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไม่ลงทุนและไม่สนับสนุนการฝึกทักษะจำเป็นสำหรับแรงงาน ไม่สร้างอุตสาหกรรมรองรับแรงงานที่ถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และ AI รวมถึงไม่ลงทุนพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับเด็กและคนแก่ซึ่งทำให้ผู้หญิงตกงานมากขึ้น เนื่องจากผู้หญิงจำนวนมากเป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ไม่ได้รับการพัฒนาทักษะ อีกทั้งยังต้องดูแลเด็กและคนชรา
ทิศทางใหม่สำหรับเศรษฐกิจโลกที่ยูเอ็นเสนอ ได้รับแรงบันดาลใจมาจากมาร์แชล แพลน หรือแผนที่ช่วยให้ยุโรปจะวันตกฟื้นฟูเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่ง UNCTAD มองว่า ปัจจุบัน ทั่วโลกก็ต้องมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและไม่ทอดทิ้งใครไว้เบื้องหลัง จึงควรส่งเสริมการสร้างงาน การขยายฐานการเก็บภาษี เพื่อปรับเปลี่ยนการกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง และควบคุมการเลี่ยงภาษีโดยใช้แหล่งหลบภาษี
นอกจากนี้ UNCTAD ยังเสนอว่า รัฐบาลของประเทศต่างๆ ควรส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและทางสังคม รวมถึงโครงการที่มุ่งแก้ไขหรือรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง และต้องให้แรงงานมีสิทธิ์มีเสียงในการร่วมออกกฎเกณฑ์หรือมาตรการต่างๆ มากกว่านี้ เพื่อไม่ให้นโยบายการแข่งขันทางการค้าเอาเปรียบแรงงานมากเกินไป