จีนเป็นประเทศที่มีผู้สั่งซื้ออาหารออนไลน์มากที่สุดในโลก ทำให้ธุรกิจส่งอาหารถึงบ้านเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่ผลที่ตามมาก็คือปัญหาขยะล้นเกิน ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาลและผู้บริโภค ต้องร่วมมือกันหาทางลดปริมาณขยะให้ได้
จากการสำรวจข้อมูลของสถาบันวิจัยด้านอุตสาหกรรมเฉียนซานของจีน พบว่าในปีที่ผ่านมา ธุรกิจสั่งอาหารและเครื่องดื่มออนไลน์ทั่วประเทศจีน มีรายได้รวมมากกว่า 1 แสน 6 หมื่น 6 พันล้านหยวน หรือประมาณ 8 แสน 2 หมื่น 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่าเมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อปี 2011 ขณะที่ผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์เป็นประจำในจีนขณะนี้อยู่ที่ประมาณ 256 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรจีนทั้งหมดที่มีโทรศัพท์มือถือในครอบครอง และมีผู้สั่งอาหารออนไลน์เฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 400 ล้านครั้ง
ธุรกิจที่เติบโตไปพร้อมกับบริการสั่งอาหารออนไลน์ ก็คือธุรกิจขนส่งสินค้าและผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการสั่งอาหาร แต่สิ่งที่เป็นปัญหาตามมาก็คือปริมาณขยะจากอาหารสั่งกลับบ้านซึ่งมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้หลายชุมชนไม่สามารถกำจัดขยะเหล่านี้ได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นวัสดุที่ไม่อาจเผาทำลายหรือกลบฝังได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เว็บไซต์ World Economic Forum รายงานอ้างอิงผลสำรวจขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศจีน พบว่าในแต่ละวัน ผู้ให้บริการส่งอาหารถึงบ้านซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศจีนมากที่สุด 3 อันดับแรก ใช้กล่องใส่อาหารหรือบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมกว่า 65 ล้านชิ้น ตะเกียบแบบใช้แล้วทิ้งอีกราว 20 ล้านคู่ และถุงพลาสติกอีกกว่า 20 ล้านถุง ซึ่งหากนำขยะเหล่านี้มากองรวมไว้ที่เดียวกันจะกินพื้นที่ประมาณ 4 แสน 2 หมื่นตารางเมตร หรือเทียบเท่ากับจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง และเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมเตือนว่า ความเสียหายจากขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
องค์กรเครือข่ายภาคประชาชนของจีนหลายแห่งได้พยายามรณรงค์ให้บริษัทสั่งอาหารออนไลน์เหล่านี้รับผิดชอบด้านบรรจุภัณฑ์ โดยมุ่งเน้นที่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ และไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาจจะใช้ระบบรีไซเคิลและการนำมาใช้ซ้ำ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคิดหาแนวทางให้ผู้บริโภคร่วมมือในการลดปริมาณขยะอีกแรงหนึ่งด้วย เพราะผลสำรวจความคิดเห็นชาวจีนจำนวนหนึ่งเมื่อปี 2015 พบว่าร้อยละ 70 ไม่รู้ว่าการบริโภคอาหารแบบส่งถึงบ้านเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาขยะล้นเกิน
รายงานของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมระบุว่า มาตรา 6 ของกฎหมายสิ่งแวดล้อมจีน กำหนดไว้ชัดเจนว่าหน้าที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมเป็นของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นบุคคล นิติบุคคล หรือเจ้าหน้าที่รัฐ แต่การผลักดันมาตรการป้องกันความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและการลงโทษผู้กระทำผิดกลับไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร และในบางครั้งหน่วยงานของรัฐก็เป็นฝ่ายละเมิดกฎหมายเสียเอง เช่น รัฐบาลท้องถิ่นนครเซี่ยงไฮ้นำขยะไปทิ้งที่เมืองอื่น แต่ไม่มีระบบกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ และในอีกหลายเมืองมีการทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ ทำให้เกิดมลพิษทางน้ำ และส่งผลกระทบต่อคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนใกล้เคียง
การจัดการปัญหาขยะที่มีประสิทธิภาพจะต้องเริ่มจากการปรับปรุงระบบกำกับดูแลและลงโทษผู้กระทำผิดให้มีความเข้มงวดกวดขันมากขึ้น และต่อจากนั้นก็จะต้องรณรงค์ให้ความรู้หรือสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการและประชาชนร่วมมือในการดำเนินธุรกิจและการบริโภคอย่างยั่งยืน โดยอาจจะออกกฎหมายเพิ่มเติมให้ผู้บริการส่งอาหารต้องแจ้งรายละเอียดของบรรจุภัณฑ์ที่ใช้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าจะต้องกำจัดขยะอย่างไร หรืออาจต้องสนับสนุนผู้ผลิตวัสดุรีไซเคิลหรือวัสดุที่ย่อยสลายได้เพื่อลดต้นทุนและเป็นแรงจูงใจให้คนหันมาใช้วัสดุเหล่านี้กันมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดต้องใช้เวลานาน แต่เป็นเรื่องที่ต้องจัดการอย่างจริงจัง ก่อนที่การขยายตัวของธุรกิจจะทำลายสิ่งแวดล้อมจนไม่สามารถฟื้นฟูเยียวยาได้