งานวิจัยใหม่ชี้ว่า แนวปะการังที่ใหญ่ที่สุดในโลก อาจกำลังสูญเสียศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเอง และผลิตปะการังรุ่นถัดไปได้น้อยลงเรื่อย ๆ
งานศึกษาใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสาร เนเจอร์ เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่สำรวจแนวปะการัง หลังเหตุการณ์ 'ฟอกขาว' ครั้งใหญ่ ในปี 2016 และ 2017 จากอุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ต่อเนื่องเป็นเวลาร่วม 2 ทศวรรษ พบว่า ปะการังที่ตายแล้ว หรือถูกฟอกขาวจนไม่สามารถฟื้นฟูตัวเอง ไม่สามารถผลิตปะการังรุ่นถัดไปได้ และ 'เกรตแบร์ริเออร์รีฟ' พืดหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ในออสเตรเลีย ก็มีจำนวนปะการังใหม่ลดลงถึง 89 เปอร์เซ็นต์
ผลการศึกษานี้ชี้ว่า ไม่เพียงแต่ภาวะโลกร้อนและการเพิ่มอุณหภูมิของน้ำทะเลจะทำลายศักยภาพในการฟื้นฟูตัวเองของปะการังในเกรตแบร์ริเออร์รีฟเท่านั้น แต่ยังจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดการล่มสลายของระบบนิเวศในวงกว้างอีกด้วย เนื่องจากแนวพืดหินปะการังที่ยาวที่สุดในโลกนี้ เป็นแหล่งที่อยู่และอาหารของสัตว์ทะเลหลายพันชนิด ทั้งปลา เต่า ฉลาม และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม
ใจความตอนหนึ่งของรายงานการวิจัยฉบับนี้ ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่เกิดจากภาวะโลกร้อนกำลังค่อย ๆ ท้าทายศักยภาพของระบบนิเวศมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยระบบนิเวศเหล่านี้ นับวันจะยิ่งดูดซับความเสียหายแต่ละระลอกได้น้อยลง ยิ่งไปกว่านั้น หนึ่งในปะการังแข็งที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศที่สุดอย่าง ปะการังเขากวาง หรือ อโครโปรา (Acropora) ก็มีจำนวนลดลง 93 เปอร์เซ็นต์ หลังจากเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ด้วย