รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2563
“อ.พิชญ์” ชี้ หาก “ประยุทธ์” นำพารัฐบาลไทย ไปแพ้คดี #เหมือนทองอัครา จะกลายเป็นคนทำรัฐประหารที่น่าอายที่สุดในโลก ที่ต้องจ่ายค่าโง่หลายหมื่นล้านบาท ที่จะสู้ยังไง ก็ยังไม่เห็นหนทางชนะ
ส่วนที่เคยหน้าใหญ่ พูดในวง ครม. “ผมรับผิดชอบเอง” แต่ยังไม่เห็นควักสักบาท ยังใช้ภาษีประชาชนเป็นค่าดำเนินการต่อสู้คดี 3 ปี เกือบ 400 ล้าน
จากกรณีที่ โลกโซเชียลแชร์ภาพเอกสารงบฯ ปี 2564 ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดตเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี หรือ “เหมืองทองอัครา” จำนวนกว่า 111 ล้านบาท นั้น
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จำนวนเงิน ผ่านการอนุมัติแล้ว เป็นงบฯ เดิมที่เคยขอไว้ แต่กระบวนการยืดเยื้อเล็กน้อย จึงต้องขอเงินเพิ่ม และขณะนี้กระบวนการอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ ส่วนการเจรจามีความคืบหน้ามาก ยังทำงานต่อเนื่อง หากตกลงได้ข้อยุติร่วมกัน ก็ไม่ต้องรอถึงวันตัดสิน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ตั้งคำถามกรณีนี้ คือ ข้อ 1.ดูกันชัดๆ รัฐบาลตั้งงบ 64 สู้คดีปิดเหมืองทองกว่า 111 ล้านบาท ทำไมไม่เห็นมี กมธ.หรือ ส.ส. หน้าไหน ตัดงบก้อนนี้ แล้วให้หัวหน้า คสช. เป็นคนจ่าย ? ข้อ 2. ค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ตามมา จะมีอีกกี่หมื่นล้าน ?”
ที่มาของคดีนี้ เนื่องมาจาก คำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ประกาศว่า “ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ (เหมืองทองอัครา) จะต้องระงับการประกอบกิจการ บริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร , พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ รวม 1,259 ไร่ ระยะเวลา 20 ปี ที่จะสิ้นสุดวันที่ 18 มิ.ย.63 และกรณีได้สิทธิ์ขยายสัมปทานพื้นที่ทำเหมืองใน จ.พิจิตร (เหมืองชาตรี) อีก 9 แปลง พื้นที่ 2,466 ไร่ระยะเวลา 20 ปี จะครบวันที่ 20 ก.พ.2571
โดย คสช.ได้สั่งห้าม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 60 เป็นต้นไป ก่อนที่วันที่ 5 พ.ย. 60 คิงส์เกท) เจ้าของสัมปทานจากประเทศออสเตรเลีย ได้เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย โดยเรียกร้องให้ชดเชยค่าเสียหาย วงเงิน 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 24,000 ล้านบาท) เนื่องจากการสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)
#เหมืองทองอัครา กลับมาติดเทรนด์ทวิตเตอร์อีกครั้ง หลังมีการเผยแพร่เอกสารงบฯ ปี 64 ระบุค่าใช้จ่ายในการระงับข้อพิพาทฯ บางรายยังตรวจสอบงบฯ ย้อนหลังพบการใช้งบฯ ระงับข้อพิพาท รวม 277 ล้านบาท (ปี 63 / 217 ล้านบาท และปี 62 60 ล้านบาท) หากรวมงบฯ ปี 64 ตามเอกสารที่ถูกเปิดเผย รัฐบาลจะใช้งบฯ ดำเนินการระงับข้อพิพาท ราว 388 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าเสียหายที่อาจแพ้คดี
นอกจากนี้ ยังมี คนทวิตถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ เคยประกาศว่า จะรับผิดชอบต่อการใช้ ม.44 ปิด #เหมืองทองอัครา เอง แต่กลับใช้ภาษีประชาชน ขณะที่บางรายทวีตถึงกรณีคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยคุณสมบัติของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้าม กรณีเป็นนายกฯ เพราะการเป็นหัวหน้า คสช. ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 ต.ค.62 สื่อมวลชนหลายสำนัก ได้รายงานว่า ในที่ประชุม ครม. มีการหารือกันอย่างกว้างขวางนี้ โดยนายสุริยะ ได้สรุปทางออก 4 ข้อ ให้ ครม.รับทราบ คือ
1.จ่ายเงินให้บริษัทอัคราฯ แล้วให้เลิกกิจการไป
2.ดำเนินการตามข้อเสนอของบริษัทอัคราฯ ซึ่งอาจช่วยให้ไม่ต้องจ่ายเงิน
3.รอผลการตัดสินของอนุญาโตตุลาการ แล้วปฏิบัติตาม
4.หาช่องจ่ายเงินค่าปรับบางส่วน โดยให้ชดเชยค่าเสียหาย แล้วให้ดำเนินกิจการต่อ แต่ที่ประชุม ยังไม่มีข้อเสนอแนะ หรือข้อสรุป
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมว่า ขอเวลาคิด ยังไม่ตัดสินใจ แต่ขอรับผิดชอบด้วยตัวเอง "ผมรับผิดชอบเอง" เพราะเป็นผู้ดำเนินการตั้งแต่ต้น