เทคโนโลยี AI ยังคงก้าวหน้าต่อไปไม่หยุด และทำงานหลายอย่างแทนมนุษย์ได้มากขึ้น ล่าสุด AI ต้นแบบของกูเกิลก็สามารถตรวจมะเร็งปอดได้แม่นยำกว่าหมอแล้ว
กูเกิลเผยแพร่งานวิจัยเรื่องการสร้างเทคโนโลยี AI ต้นแบบ ที่วินิจฉัยภาพซีทีสแกนหรือภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อค้นหามะเร็งปอด
ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว วิธีการตรวจคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งปอด จะใช้รังสีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัยภาพซีทีสแกน เพื่อค้นหาร่องรอยของมะเร็ง แต่มะเร็งปอดระยะเริ่มต้น สามารถตรวจพบได้ยากมาก เพราะแทบไม่ปรากฏร่องรอยของมะเร็งในภาพซีทีสแกน
แต่สำหรับ AI ต้นแบบของกูเกิลที่วินิจฉัยภาพทั้งหมดเป็นโมเดล 3 มิติ และสแกนเนื้อปอดในจุดที่ยากต่อการมองเห็นได้ ทำให้วินิจฉัยมะเร็งปอดได้แม่นยำกว่ารังสีแพทย์ รวมทั้งยังสามารถคาดคะเนอัตราการเติบโตของเนื้องอกได้อีกด้วย
ในการทดสอบ AI ของกูเกิลวินิจฉัยภาพซีทีสแกนจำนวน 45,856 ภาพ เทียบกับการวินิจฉัยของรังสีแพทย์ 6 คน พบว่า AI ของกูเกิล สามารถระบุผู้ที่ป่วยด้วยมะเร็งปอดได้แม่นยำกว่ารังสีแพทย์ 5% และระบุผู้ที่ไม่ได้เป็นมะเร็งปอดได้แม่นยำกว่ารังสีแพทย์ 11%
อย่างไรก็ตาม กูเกิลกล่าวว่าเทคโนโลยี AI ตัวนี้เป็นเพียงผลงานเริ่มต้นและยังต้องพัฒนาอีกมาก เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกูเกิลต้องอาศัยความร่วมมือกับโรงพยาบาลและสถาบันด้านการแพทย์หลายแห่ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำงานร่วมกันในอนาคต ซึ่งหากเทคโนโลยี AI ตัวนี้ ถูกพัฒนาจนนำมาใช้ได้จริง ก็จะช่วยลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปอดได้มาก เพราะในปัจจุบัน เป็นเรื่องยากมากที่จะตรวจพบมะเร็งชนิดนี้ในระยะเริ่มต้น ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากเข้ารับการรักษาช้าเกินไปหลังจากที่มะเร็งลุกลามไปมากแล้ว