ดาวสีขาวบนสามเหลี่ยมสี่แดง ที่ติดอยู่ตรงอาคารพาณิชย์บนถนนเยาวราช หลายคนที่ผ่านไปผ่านมา คงสงสัยจนเลิกตั้งคำถาม ว่าสิ่งนั้นคืออะไรกันแน่
นั่นคือ “ป้ายรถรางป้ายสุดท้าย” อายุร่วมหนึ่งร้อยปี ที่ยังหลงเหลือ ติดอยู่บริเวณเวิ้งนาครเขษม หรือผิดเพี้ยนจนเรียกติดปากว่า นครเกษม อีกหนึ่งย่านเศรษฐกิจสำคัญ เป็นศูนย์การค้าที่รวมสินค้าจีน ฝรั่ง และไทยไว้ด้วยกัน นับเป็นศูนย์การค้าสากลแห่งแรกของเกาะรัตนโกสินทร์
4 มีนาคม 2562 ถูกจารึกเป็นอีกหนึ่งวันในประวัติศาสตร์ ป้ายสุดท้ายที่เกษียณอายุมากว่า 50 ปี ถูกปลดระวางอย่างเป็นทางการ โดยการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. หน่วยงานสุดท้ายที่เข้ามาบริหารงานกิจการรถราง
เรืออากาศตรี สำเริง เชี่ยวชูกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟน. เล่าว่า ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีรถรางใช้ นับเป็นอีกจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบคมนาคมในยุคนั้น คนเดินทางได้รวดเร็ว ขนส่งสินค้าก็ทำได้ในปริมาณมากขึ้น
ไม่เพียงก่อนหน้าประเทศชั้นนำในเอเชียเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังเริ่มใช้รถรางก่อนประเทศอุตสาหกรรมหลายประเทศทั่วโลก เริ่มใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2436 โดยบริษัท Short Electric Railway Company จากสหรัฐฯ กระทั่งปี 2492 สัมปทานเดินรถได้สิ้นสุดลง รัฐบาลในขณะนั้นจึงเข้ามาดำเนินการต่อในนามบริษัท การไฟฟ้ากรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2493 โดยเปิดให้บริการ 8 เส้นทาง คือ สายบางซื่อ , สามเสน , บางคอแหลม , หัวลำโพง , ปทุมวัน , สีลม , ดุสิต และร่วมฤดี
พ.ศ.2501 การไฟฟ้ากรุงเทพ ถูกควบรวมกิจการเข้ากับ กองไฟฟ้าสามเสนหลวง และตั้งชื่อว่า การไฟฟ้านครหลวง บริหารกิจการต่างๆ รวมถึงกิจการรถรางต่อด้วย ต่อมากิจการประสบภาวะขาดทุน ประกอบกับมีรถยนต์เข้ามามากขึ้น 3 ปีต่อมา รัฐบาลจึงมีมติเลิกเดินรถราง แต่เพื่อไม่ให้กระทบประชาชนและพนักงาน จึงให้ กฟน.พิจารณาเลิกเดินรถทีละสาย กระทั่งยกเลิกสายสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511 กว่า 80 ปี ของกิจการเดินรถราง แม้จะเปลี่ยนผ่านการบริหารมาหลายหน่วยงาน แต่ก็สร้างความทรงจำไว้มากมาย โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ลุงเทิ้ม หรือนายเทิ้ม ภู่หอม อดีตพนักงานเดินรถรางสายดุสิต เล่าว่า มีความสุขทุกครั้งที่อยู่หลังพวงมาลัยรถราง แม้จะตากแดดตากลม จดจำได้ทุกอย่างเกี่ยวกับการขับรถราง
ถนนเยาวราชคงคล้ายกับย่านอื่นๆ แม้จะยังคงเอกลักษณ์กลิ่นอายเก่าๆ แต่ก็มีตึกรามบ้านช่องผุดขึ้นตามยุคสมัย จากนี้ ใครที่เคยสังเกตเห็นดาวสีขาวบนสามเหลี่ยมสีแดง คงไม่เห็นอีกต่อไป แต่จะถูกนำไปจัดแสดงไว้ที่ศูนย์การเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ การไฟฟ้านครหลวง คลองเตย เพื่อเป็นการอนุรักษ์หลักฐานทางประวัติศาตร์และระลึกถึงรถรางที่เคยรุ่งเรืองต่อไป