รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2563
นักวิเคราะห์ Talking Thailand มองพลังนักศึกษา “ห่วงอนาคตตัวเอง” ที่เจอผู้นำไม่ฉลาด แถมพรรคการเมืองที่เป็นความหวัง ก็ถูกยุบ นอกจากนี้พลังคณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. ยกตัวบทกฎหมาย ออกมายัน เห็นแย้ง คำตัดสินยุบ “อนาคตใหม่” ด้าน “คำผกา” ยกแถลงการณ์ พรรคการเมืองตั้งขึ้นเป็นตัวแทนประชาชน แม้อาจผิดจริงก็ไม่ถึงขั้นต้องยุบ และขอให้ตีความเป็นธรรมต่อระบอบประชาธิปไตย
คณาจารย์ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์ข้อสังเกตและความคิดเห็นต่อคำวินิจฉัยและการให้เหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังนี้
1. พรรคการเมืองไม่ใช่นิติบุคคลที่ใช้อำนาจมหาชน จึงสามารถกู้ยืมได้โดยไม่ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับกฎหมายของต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายของสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี หรือฝรั่งเศส พรรคการเมือง มีสถานะเป็นเพียงนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนทั้งสิ้น มีความสามารถ มีเสรีภาพในการเข้าทำสัญญาได้ตามใจสมัครภายใต้อำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ของพรรคการเมือง ดังนั้นจึงไม่เห็นด้วยกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายอนุญาตให้พรรคการเมืองกู้เงินได้ เงินกู้นั้นจึงเป็นเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560
2. การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพในการแสดงเจตนาของคู่สัญญา คณาจารย์นิติศาสตร์ เห็นว่า การคิดดอกเบี้ยและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นเสรีภาพโดยแท้ของเจ้าหนี้และคู่สัญญา การที่เจ้าหนี้ตกลงไม่คิดดอกเบี้ยเลย หรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ เป็นแต่เพียงการที่เจ้าหนี้ไม่ประสงค์จะเรียกค่าตอบแทนจากการให้กู้ยืมหรือค่าเสียโอกาสในการหาประโยชน์จากเงิน แต่ไม่ทำให้เจ้าหนี้สูญเสียหรือเสียหายในทางทรัพย์สิน การไม่คิดดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติทางการค้า
3. ข้อเท็จจริงแห่งคดีไม่สามารถปรับเข้ากับมาตรา 72 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ได้ คณาจารย์นิติศาสตร์ เห็นว่า มาตรา 72 ไม่อาจนำมาใช้ตีความประกอบกับมาตรา 66 ของพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ได้ แม้ว่าบทบัญญัติทั้งสองมาตราจะอยู่ภายใต้หมวด 5 ว่าด้วยรายได้ของพรรคการเมืองก็ตาม เนื่องจากมาตรา 72 ได้กำหนดข้อห้ามไม่ให้พรรคการเมืองกระทำการไว้เป็นการชัดแจ้งแยกออกจากมาตราอื่นและเป็นมาตรการเฉพาะที่ห้ามพรรคการเมืองรับเงินรายได้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ความมุ่งหมายของมาตรา 72 ดังกล่าว คือ การห้ามพรรคเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมาจากการกระทำกิจกรรมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังเช่น เงินที่ได้มาจากการกระทำความผิดอาญาหรือจากการค้ายาเสพติด เป็นต้น
ส่วนความมุ่งหมายตามมาตรา 66 นั้น เป็นการกำหนดจำนวนเงินอย่างสูงหรือเพดานการรับเงินรายได้ที่เป็นเงินบริจาค ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดไม่เกินมูลค่าสิบล้านบาทต่อปี เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริจาครายใดใช้กลไกดังกล่าวในการครอบงำการดำเนินการของพรรคการเมือง จะเห็นได้ว่ามาตรา 66 และมาตรา 72 ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกันหรือเชื่อมโยงกัน การปรับใช้กฎหมายทั้งสองมาตราจึงแยกออกจากกันได้
หากไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเงินที่ได้รับมานั้นมีแหล่งที่มาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของพรรคการเมืองตามมาตรา 66 จึงไม่ใช่เหตุในการยุบพรรคการเมืองได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) แต่อย่างใด
4. ความสำคัญของพรรคการเมืองในการปกครองระบอบประชาธิปไตย กับการใช้อำนาจยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมืองในระบอบเสรีประชาธิปไตยมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งเจต-จำนงทางการเมืองของประชาชน ด้วยการนำเสนอนโยบายเพื่อให้ประชาชนที่เห็นด้วยเลือกพรรคการเมืองนั้น ๆ เข้าไปเป็นผู้แทนของตนในรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ในการผลักดันนโยบาย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปประเทศไปในแนวทางที่ประชาชนแต่ละกลุ่มต้องการ
รัฐในระบอบเสรีประชาธิปไตยจะต้องเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่าง ๆ ได้แข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตนผ่านหลักการปกครองโดยหลักเสียงข้างมากโดยเคารพเสียงข้างน้อย การใช้อำนาจขององค์กรของรัฐจะต้องระมัดระวังไม่ให้เป็นอุปสรรคขัดขวางต่อความเป็นอิสระ เสรีภาพ และการแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมของพรรคการเมืองทั้งหลาย
การยุบพรรคการเมือง ซึ่งหมายถึง การทำลายองค์กรที่เป็นผู้ทำหน้าที่ก่อตั้งเจตจำนงทางการเมืองและเป็นผู้แทนผลประโยชน์ของประชาชนในสังคมการเมืองนั้นควรเกิดขึ้นได้เฉพาะกรณีที่ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจนโดยปราศจากข้อสงสัยว่าพรรคการเมืองได้กระทำการอันขัดต่อหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและ มีความร้ายแรงถึงขนาดสมควรที่จะต้องถูกยุบพรรค
คณาจารย์นิติศาสตร์มีข้อสังเกตประการสำคัญต่ออำนาจในการออกคำสั่งยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญว่า เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญในเรื่องการยุบพรรคการเมืองตามหลักการที่เกิดขึ้นในต่างประเทศนั้น เกิดจากแนวคิดในเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและระบอบประชาธิปไตยจากภยันตรายอย่างร้ายแรงที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยไปสู่การปกครองในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จหรือเผด็จการ
กลไกในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยโดยการยุบพรรคการเมืองนั้น จึงถูกใช้เฉพาะที่ได้ความอย่างชัดแจ้งและปราศจากข้อสงสัย หากไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดแจ้งเช่นว่านั้น ทั้งนี้เพราะบรรดาพรรคการเมืองทั้งหลายย่อมมีเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองซึ่งเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญด้วยเช่นเดียวกัน การวินิจฉัยยุบพรรคการเมืองจึงต้องชั่งน้ำหนักประโยชน์ทั้งสองด้านดังกล่าวให้ได้ดุลยภาพกัน
การยุบพรรคการเมืองจึงต้องเป็นมาตรการสุดท้าย (ultima ratio) ของมาตรการอื่น ๆ เมื่อไม่มีมาตรการอื่นที่มีประสิทธิภาพและได้สัดส่วนแล้วเท่านั้น และในกรณีที่ไม่ได้ความชัดแจ้งว่าพรรคการเมืองใดกระทำการในลักษณะดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญพึงต้องจำกัดอำนาจตนเอง คณาจารย์นิติศาสตร์ตระหนักดีว่านักกฎหมายทั้งหลายอาจมีวิธีการในการใช้และการตีความกฎหมายที่แตกต่างกันไปเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกันคือความยุติธรรม ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็เช่นเดียวกัน ย่อมมีดุลยพินิจในการเลือกใช้วิธีการใช้และตีความกฎหมายที่เห็นว่าถูกต้องและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
คณาจารย์นิติศาสตร์เชื่อว่าปัญหาทางการเมืองไทยที่สั่งสมมาเป็นเวลายาวนานจะได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยการใช้การตีความกฎหมายอย่างถูกต้องและเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยจะดำรงอยู่ได้หากนักกฎหมายทำหน้าที่โดยปราศจากอคติ และผู้คนในสังคมร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลและความอดทนอดกลั้น
รายชื่อคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์
๑. รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน ๒. รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด
๓. รศ.ดร.ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ ๔. ผศ.ดร.รณกรณ์ บุญมี
๕. ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน ๖. รศ. ดร.ปกป้อง ศรีสนิท
๗. อาจารย์ดิศรณ์ ลิขิตวิทยาวุฒิ ๘. อาจารย์คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร
๙. ผศ. ดร.นพร โพธิ์พัฒนชัย ๑๐. รศ.ดร.นิรมัย พิศแข มั่นจิตร
๑๑. อาจารย์ ดร.อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน ๑๒. อาจารย์เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม
๑๓. อาจารย์กิตติภพ วังคำ ๑๔. ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรศักดิ์ บุญเรือง
๑๕. อาจารย์มาติกา วินิจสร ๑๖. อาจารย์ภัทรพงษ์ แสงไกร
๑๗. รศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์ ๑๘. ศ.ดร.สุเมธ สิริคุณโชติ
๑๙. รศ.ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ ๒๐. อาจารย์ยศสุดา หร่ายเจริญ
๒๑. ศาสตราจารย์ ดร.อุดม รัฐอมฤต ๒๒. ผศ.ดร.ตามพงษ์ ชอบอิสระ
๒๓. อาจารย์ ดร.ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี ๒๔. ผศ.ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง
๒๕. อ.เอื้อการย์ โสภาคดิษฐพงษ์ ๒๖. ศ.ดร.สหธน รัตนไพจิตร
๒๗. อาจารย์กีระเกียรติ พระทัย ๒๘. อาจารย์ฉัตรดนัย สมานพันธ์
๒๙. อาจารย์ปทิตตา ไชยปาน ๓๐. อาจารย์ ดร.พนัญญา ลาภประเสริฐพร
๓๑. ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ ๓๒. อาจารย์สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ
๓๓. อาจารย์ ดร.นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล ๓๔. อาจารย์พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์
๓๕. อาจารย์สุประวีณ์ อาสนศักดิ์ ๓๖. อาจารย์ปวีร์ เจนวีระนนท์