หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยล้มการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. นักวิชาการด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ก็เห็นไม่ตรงกัน ว่าคำวินิจฉัยศาลนั้น มีผลผูกพันหรือเป็นโมฆะ มาชมวิวาทะนักวิชาการในเรื่องนี้กัน
ในประเด็นว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันรัฐสภาหรือไม่ ศาสตราจารย์ สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เห็นว่าคำวินิจฉัยผกพันทุกองค์กร รวมถึงรัฐสภาด้วย ในขณะที่รองศาสตราจารย์ วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักกฎหมายมหาชน จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเดียวกัน กล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ จึงไม่ผูกพันองค์กรใด
ส่วนในประเด็นว่า ใครเป็นผู้ตัดสิน ว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ศาสตราจารย์ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ 2550 กล่าวว่าศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจตัดสินเอง ในขณะที่ รศ.วรเจตน์ เห็นว่ารัฐสภาก็มีอำนาจตีความรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนในประเด็นที่ว่า ต่อจากนี้รัฐสภาควรทำอย่างไรต่อไป ศาสตราจารย์ บรรเจิค สิงคเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่าการที่รัฐบาลยุบสภาหรือลาออกก็เป็นทางเลือกหนึ่ง ในขณะที่นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2540 กล่าวว่า รัฐสภาควรดำเนินการถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ปีที่แล้ว คณะนิติราษฎร์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาการนิติศาสตร์ ได้เสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อยุบศาลรัฐธรรมนูญ แล้วตั้งคณะตุลาการพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีที่มายึดโยงกับประชาชนมาแทน