ผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊กชี้ เฟซบุ๊กมีอำนาจในมือมากเกินไปในการกำหนดว่าจะให้คนรับรู้หรือไม่รับรู้อะไร จึงแนะนำให้รัฐบาลสั่งแตกบริษัท พร้อมออกมาตรการควบคุม ด้านเฟซบุ๊กโต้กลับ การบริษัทใหญ่ไม่ใช่เรื่องผิด และมีการลงทุนด้านความปลอดภัยมากกว่าโซเชียลมีเดียทุกแบรนด์
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา คริส ฮิวส์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเฟซบุ๊ก ซึ่งลาออกเมื่อปี 2007 และยังเป็นอดีตรูมเมตสมัยมหาวิทยาลัยของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ได้ออกมาชี้ถึงปัญหาของโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ผ่านบทความในเดอะนิวยอร์กไทมส์ว่าในปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีอำนาจควบคุมทิศทางการเสพข้อมูลของคนมากเกินไปแล้ว เนื่องจากสถานะของเฟซบุ๊กในตลาดเรียกได้ว่า 'ผูกขาด' เฟซบุ๊กมีอำนาจกำหนดว่าจะให้คนเห็นอะไรหรือไม่เห็นอะไรบนหน้าฟีด
ฮิวส์จึงเสนอให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ เพิกถอนการควบรวมกิจการ WhatsApp และ Instagram ให้บริษัทถือครองสื่อโซเชียลมีเดียในมือน้อยลง เปิดให้มีพื้นที่สำหรับมีการแข่งขันได้มากขึ้น พร้อมออกกฎที่เกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวเพื่อควบคุมว่าข้อมูลส่วนตัวแบบไหนที่เฟซบุ๊กสามารถเก็บได้บ้าง
นอกจากนั้น ฮิวส์ยังได้ระบุในบทความอีกด้วยว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่สร้างมาด้วยแนวคิดว่าอำนาจไม่ควรกระจุกอยู่ใครคนใดคนหนึ่ง เพราะเราต่างย่อมผิดพลาดกันได้ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบรรดาผู้ก่อตั้งประเทศจึงสร้างระบบการตรวจสอบและถ่วงดุลขึ้นมา
ด้วยสัดส่วนหุ้นของเฟซบุ๊กที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กถือในปัจจุบัน ทำให้เขามีเสียงโหวตกว่าครึ่งในการตัดสินใจ คณะกรรมการบริหารจึงดูจะเป็นเพียงที่ปรึกษามากเสียกว่าผู้สอดส่องดูแล เพราะเขาเพียงคนเดียวก็มีอำนาจในการตัดสินใจปรับเปลี่ยนอัลกอริทึมของเฟซบุ๊กว่าใครจะเห็นอะไรบนนิวส์ฟีด หรือใครจะมีสิทธิเก็บความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตัวเองได้แค่ไหน หรือกระทั่งกำหนดว่าข้อความใดส่งได้หรือไม่ได้
หนึ่งในตัวอย่างสุดโต่งที่ฮิวส์ยก คือหลังพบว่ามีการส่งข้อความผ่านเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์จากทั้งฝ่ายผู้นับถือศาสนาพุทธและอิสลามในเมียนมาในปี 2017 ว่าอีกฝ่ายก่อการจลาจลขึ้นแล้ว ให้ทุกคนจับอาวุธและไปยังที่เกิดเหตุกัน ซักเคอร์เบิร์กได้ตัดสินใจบล็อกไม่ให้สามารถส่งข้อความที่สร้างความเกลียดชังเหล่านี้ได้ เพื่อเลี่ยงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นทันที
อย่างไรก็ตาม แม้การกระทำนี้จะดูสมเหตุสมผล สิ่งที่ฮิวส์เป็นห่วงคือการที่ซักเคอร์เบิร์กทำไปโดยไม่ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลหรือองค์อิสระใด ๆ และในทำนองเดียวกันโดยทฤษฎีแล้ว ข้อความของชาวอเมริกันเองก็มีสิทธิถูกลบได้เช่นกัน หากสร้างความไม่พอใจให้กับประธานเฟซบุ๊กคนนี้
นอกจากนี้ ยังกล่าวได้ว่าเฟซบุ๊กยึดตลาดไว้ให้ผู้ใช้ไม่สามารถย้ายไปยังแพลตฟอร์มอื่นได้ ต่อให้ผู้คนจะไม่พอใจแค่ไหน แต่ก็ยากจะเลี่ยงการอยู่ภายใต้การควบคุมของเฟซบุ๊ก ซึ่งผูกขาดโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยการครอบครองสามแพลตฟอร์มใหญ่ของสื่อสังคมออนไลน์ไว้ นั่นคือ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และวอตซ์แอป ซึ่งมีคนนับพันล้านใช้กันเป็นประจำทุกวัน
ข้อมูลจากสำนักวิจัยพิว (Pew Research Center) เผยว่า 69 % ของชาวอเมริกันอายุ 18 ปี ขึ้นไปใช้โซเชียลมีเดีย โดยในจำนวนนั้น 68 % ใช้เฟซบุ๊ก , 35 % ใช้อินสตาแกรม และ 22 % ใช้วอตซ์แอป และจากข้อมูลที่ฮิวจส์รวบรวมมา เฟซบุ๊กมีผู้ใช้งานเป็นประจำ 2,300 ล้านคน เมสเซนเจอร์มี 1,300 ล้านคน วอตซ์แอปมี 1,600 ล้านคน และอินสตาแกรมมี 1 พันล้านคน
ด้วยอำนาจผูกขาดความเป็นเจ้าตลาดเช่นนี้ ฮิวส์ชี้ว่าซักเคอร์เบิร์กสามารถกำจัดคู่แข่งได้โดยการ ซื้อ บล็อก หรือลอกเลียนแบบกิจการคู่แข่ง อย่างในกรณีที่มีการรายงานว่าเฟซบุ๊กลำดับความสำคัญของวิดีโอที่ลงในเฟซบุ๊กมากกว่าวิดีโอที่แชร์จากแพลตฟอร์มอื่นอย่าง ยูทูบหรือวิมีโอ (Vimeo) และในปี 2012 ทวิตเตอร์ได้เข้าซื้อไวน์ (Vine) เครือข่ายวิดีโอขนาดสั้น 6 วินาที ซึ่งต่อมาเฟซบุ๊กบล็อกผู้ใช้ไวน์ จึงไม่สามารถเข้าถึงรายชื่อเพื่อนบนเฟซบุ๊กได้ โดยเฟซบุ๊กระบุว่าเป็นมาตรการตอบโต้บริษัทที่จงใจใช้ประโยชน์จากเฟซบุ๊ก โดยไม่สร้างมูลค่าใด ๆ ให้ และการตัดสินใจนี้ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่สั่นคลอนไวน์จนถึงขั้นปิดตัวลงในปี 2016
สำหรับกรณีของสแนปแช็ต ซึ่งมีระบบสตอรีและการส่งข้อความชั่วคราว ก็ดูเป็นทางเลือกแทนที่เฟซบุ๊กและอินสตาแกรม โดยต่างจากไวน์เพราะสแนปแช็ตไม่ยุ่งเกี่ยวกับระบบนิเวศของเฟซบุ๊กอยู่แล้ว เฟซบุ๊กจึงไม่สามารถคว่ำบาตรได้ แต่สิ่งที่เฟซบุ๊กทำคือทำการเลียนแบบ กลายเป็นเฟซบุ๊กสตอรีและข้อความลับในเมสเซนเจอร์ ซึ่งตั้งเวลาให้ข้อความหายไปได้ โดยฮิวส์อ้างบทความจากไวร์ดว่าในปี 2016 ซักเคอร์เบิร์กได้บอกกับพนักงานของเฟซบุ๊กว่าอย่าให้ 'ศักดิ์ศรี' ขัดขวางการให้ในสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งกลายเป็นสโลแกนภายในองค์กรอย่างไม่เป็นทางการ "อย่าหยิ่งเกินที่จะลอก"
ในบทความของฮิวส์ เขาได้เสนอข้อเสนอหลักสองประการ เพื่อลดการผูกขาดของเฟซบุ๊ก และส่งเสริมความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน ข้อเสนอประการแรก คือให้แยกเฟซบุ๊กออกเป็นหลายบริษัท โดยให้กรรมาธิการการค้ารัฐบาลกลางสหรัฐฯ ร่วมกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เพิกถอนการควบรวมกิจการอินสตาแกรม และวอตซ์แอป พร้อมกำหนดห้ามการซื้อกิจการในอีกหลายปีข้างหน้า เพื่อลดการผูกขาด และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขัน
นอกจากนี้ ฮิวส์มองว่าการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของตลาดยังไม่เพียงพอจะแก้ปัญหาความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน จึงเสนอเพิ่มเติมว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตั้งองค์กรมาเพื่อคอยกำกับระเบียบบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ ดังที่ยุโรปมีกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation) โดยกฎระเบียบที่สหรัฐฯ จะออกมาควรกำหนดชัดว่าชาวอเมริกันมีอำนาจอะไรในการควบคุมข้อมูลดิจิทัลของตัวเองบ้าง
พร้อมกำหนดให้บริษัทเปิดเผยตัวเองต่อผู้ใช้งานอย่างชัดเจนโปร่งใส่มากขึ้น พร้อมให้ความยืดหยุ่นให้ทางองค์กรตรวจสอบสามารถสอดส่องบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพ และท้ายที่สุด องค์กรดังกล่าวควรออกแนวทางว่าข้อความลักษณะใดจึงนับว่ายอมรับได้ในโซเชียลมีเดีย เพื่อให้มีมาตรฐานที่บริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ สามารถใช้ได้