องค์การการประชุมอิสลาม หรือ โอไอซี เป็นองค์การระหว่างประเทศของชาติมุสลิม มีสมาชิก 57 ประเทศ ประเทศไทยอยู่ในฐานะผู้สังเกตการณ์ โอไอซีให้ความสนใจกับปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาที่ 4 ,การหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร , เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ และเหตุการณ์ตากใบ
รศ.ดร.จรัญ มะลุลีม นักวิชาการด้านตะวันออกศึกษา จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โอไอซี เคยส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามาในพื้นที่ และแสดงความสนใจประเทศไทย ผ่านมิติของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ทั้งยังเคยจัดเวทีอย่างไม่เป็นทางการให้มีการเจรจาระหว่าง ตัวแทนของไทย กับตัวแทนของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน และเสนอแนะให้รัฐบาลไทย พัฒนาด้านเศรษฐกิจ อำนวยความยุติธรรม กับประชาชนในพื้นที่
สุนัย ผาสุก ผู้ประสานงานที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์ วอชท์ ประจำประเทศไทย ประเมินว่า ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นความรุนแรงที่กลายเป็นวงจร เพราะการละเมิดสิทธิ ยังคงเป็นปัญหาอยู่ โดยตั้งแต่ปี 2547 สหประชาชาติรับเรื่องร้องเรียนเรื่อง การอุ้มฆ่าไปแล้ว 50 เรื่อง
ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ มองว่ารัฐยังแก้ปัญหาความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ของประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ จึงทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบ นำเงื่อนไขเรื่องการเป็นพลเมืองชั้นสองไปปลุกระดมได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนบาดแผลจากเหตุการณ์ กรือเซะ ตากใบ ยังไม่มีการเยียวยาอย่างเหมาะสม และยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมทำผิดแล้วไม่ต้องรับผิด
ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์ วอชท์ เสนอให้พรรคการเมืองทุกพรรค นำเสนอการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นวาระแห่งชาติ และเน้นการแก้ปัญหาในมิติการอำนวยความยุติธรรม สิทธิมนุษยชน และการมีส่วนร่วม
Produced by VoiceTV