สถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนับจากปี 2549 2553 และต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา(56) จนถึงปีนี้ ทุกความเคลื่อนไหว ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ โดยเฉพาะความหวังที่จะผลักดันให้ราชประสงค์ เป็นศูนย์กลางการค้าปลีกของไทยคงเลือนลาง เพราะความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ศูนย์กลางการช็อปปิ้ง หรือ Hub ของไทย อยู่ในย่านราชประสงค์ ประตูน้ำ ปทุมวัน แหล่งนี้ คือทำเลทอง เพราะการเดินทางสะดวก เป็นแหล่งรวมสินค้าแบรนด์ดังระดับโลก และกลุ่มแมส
โดยรวม 3 แห่งนี้ มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านตารางเมตร เฉพาะพื้นที่ของสยามพารากอน อยู่ที่ 5 แสนตารางเมตร ส่วนเซ็นทรัลเวิลด์ มีพื้นที่ถึง 4 แสน 2 หมื่น 9 พัน 500 ตารางเมตร เพราะเป็นย่านที่ดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยว จึงมีผู้คนหมุนเวียนช็อบปิ้งหลายแสนคน ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล
เจ้าของศูนยการค้าเกษร และนายกสมาคมผู้ประกอบการวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการรวมตัวของผู้ประกอบการในย่านนี้ มุ่งหมายปั้นให้ทำเลนี้ เป็นแหล่งช็อปปิ้งระดับโลกทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยชูราชประสงค์ เป็นศูนย์กลางการช็อปปิ้งเทียบเท่าออร์ชาร์ด สิงคโปร์ เพราะที่นี่มีครบ ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม ห้างหรูหรา และสินค้าระดับแมส
นอกจากเป็นแหล่งรวมการใช้ชีวิตครบครันแล้ว ยังเป็นจุดจัดงานอีเวนต์ระดับบิ๊ก เพราะผู้จัดงานอีเวนต์ มองว่า ที่นี่คือจุดศูนย์รวมของการเดินทางและช็อปปิ้งของคนเมือง แต่ตอนนี้ คงเป็นไปได้ยาก เพราะการเมืองที่ไร้สเถียรภาพมาตั้งแต่ปี 2549 เรื่อยมาถึงปัจจุบัน แต่เจ้าของห้างเกษร กลับมองว่า การชุมนุมครั้งนี้ส่งผลกระทบน้อยกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา ยกเว้นปัญหาเดียว คือการเดินทางเข้าออกพื้นที่
สวนทางกับความเห็นของกลุ่มเซ็นทรัล ที่ยอมรับว่า การชุมนุมที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา ทำให้ทราฟฟิกผู้บริโภคในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ซึ่งใกล้พื้นที่ชุมนุม เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า หรือในสาขาต่างจังหวัด เซ็นทรัล สุราษฎร์ธานี ลดลง 10%
การชุมนุมทางการเมือง ไม่ว่าจะเกิดจากกลุ่มใด ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายและรายได้ของผู้ประกอบการ แต่ผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุด คือ ความไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเมืองในมุมมองของต่างชาติ ซึ่งต้องยอมรับว่า เม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาประเทศไทย เป็นรายได้หลักของประเทศ และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง