ทุกครั้งที่มีการชุมนุมหรือความไม่แน่นอนทางการเมืองของไทย ภาคการท่องเที่ยวจะเป็นธุรกิจแรกที่ได้รับผลกระทบเร็วที่สุด รวมทั้งการชุมนุมครั้งล่าสุดตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่เป็นการซ้ำเติมภาคการท่องเที่ยว พร้อมกับการประกาศเตือนนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทย รวม 48 ประเทศ
ปี2556 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางมาประเทศไทยรวม 26 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 19.60 โดยจีนเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของไทย ตามด้วย มาเลเซีย รัสเซีย ญีปุ่นและเกาหลีใต้
ขณะที่เดือนมกราคม 2557 มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ 2 ล้าน 3 แสนคน เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.06 เท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์การเมืองของไทยเป็นสำคัญ ขณะที่ในปีนี้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 28 ล้านคน แต่คาดว่าอาจลดลงเหลือ 26 ล้านคน หรือ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5
นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว หรือ ทีทีเอเอ ประเมินว่า ธุรกิจทัวร์คนไทยไปต่างประเทศ หรือ เอาท์บาวด์ และธุรกิจทัวร์ต่างประเทศเข้ามาไทย หรือ อินบาวน์ สูญเสียรายได้ช่วงเดือนธันวาคม 2556 และ มกราคม 2557 กว่า 8,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจโรงแรมคาดว่าถึงสินเดือนมีนาคมนี้ จะกระทบถึง 10,000 ล้านบาท รวม 2 เดือนที่ผ่านมา อาจสูงถึง 18,000 ล้านบาทแล้ว ซึ่งหวังว่า หากการเมืองไทยคลี่คลายภายในไตรมาสแรก จะทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยฟื้นตัว แต่หากลากยาวถึงเดือนเมษายน อาจได้รับผลกระทบรุนแรง
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ประเมินว่า เดิมในปีนี้ จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 29 ล้าน 9 แสนคน และสร้างรายได้สูงถึง 1 ล้าน 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท แต่ครึ่งแรกของปีนี้ มีนักท่องเที่ยวลดลงจากเดิม 1 ล้าน 8 แสนคน และรายได้ต่ำกว่าคาดการณ์ 8 หมื่น 2 พันล้านบาท โดยครึ่งปีหลัง หากจะรักษาการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวตลอดปีตามที่คาด ครึ่งปีหลังจะต้องมีนักท่องเที่ยว 15 ล้าน 5 แสนคน และทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปีอยู่ที่ 28 ล้าน 1 แสนคน ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ร้อยละ 6 และทำรายได้ทั้งปีที่ 2 ล้านล้านบาท
โดยเรียกร้องให้ภาครัฐทบทวนการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งสถาบันการเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องให้กับภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายจบปัญหาด้วยการเจรจาและไม่เกิดความรุนแรง คือทางออกดีที่สุด
ขณะที่การช่วยเหลือจากภาครัฐต่อภาคการท่องเที่ยว ในขณะที่เป็นรัฐบาลรักษาการณ์ มีข้อติดขัด ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวของผู้ประกอบการ ในการเดินทางมาประเทศไทย ทั้งความปลอดภัย และมีสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ รวมทั้งการจัดโปรโมชั่นต่างๆ และลดค่าใช้จ่าย หรือขอความร่วมมือจากพนักงาน คือสิ่งที่ผู้ประกอบการดำเนินการในขณะนี้ จึงหวังว่า หากสถานการณ์การเมืองไทยเข้าสู่ภาวะปกติได้เร็วเมื่อใด ก็น่าจะช่วยเติมออกซิเจนพลิกฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย ที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นมากที่สุด กลับมาอีกครั้ง