รายการ Talking Thailand ประจำวันที่ 5 มีนาคม 2563
“คำผกา” ชวน “อ.วิโรจน์” คุย ทำไม รัฐบาลไม่ใช้วิกฤติเป็นโอกาส พร้อมสร้างมาตรการสร้างความเชื่อมั่น ทั้งคนในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังงัด “มาตรการแจกเงิน-มาตรการที่แก้ไม่ถูกจุด” ผ่านเงินภาษีประชาชนกว่าแสนล้าน รองรับผลกระทบโควิด-19 แถมวันนี้ “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ยังมองผลกระทบโควิด-19 หนักหน่วง กดดันให้เศรษฐกิจไทยโตแค่ 0.5%
หลังจากที่นายอุตตม สาวนายน รมว. คลัง แถลงถึงชุดมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบโควิด-19 ชุดที่ 1 ต่อที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือครม.เศรษฐกิน วันที่ 6 มี.ค.63 เพื่อขออนุมัติจาก ครม.ชุดใหญ่ ในวันที่ 10 มี.ค. ซึ่งใช้งบประมาณมากกว่า 1 แสนล้านบาท และมีเสียงวิจารณ์ไม่เห็นด้วยนั้น
ต่อมา นายอุตตม โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ว่า มีข้อสงสัยกันมาก เรื่องที่กระทรวงการคลังจะเสนอมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากภัยไวรัสโควิค-19 ด้วยวิธีการส่งเงินเข้าบัญชีผู้มีสิทธิเพื่อให้นำเงินไปใช้จ่าย ซึ่งจะมีการนำเสนอเข้า ครม.เร่งด่วน
ทั้งนี้การกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้บทบาทกระทรวงการคลังมีอยู่ 2 แนวทางคือ 1.มาตรการทางภาษี เช่นการยกเว้นหรือการลดภาษีเพื่อให้เกิดเม็ดเงินส่วนต่างจากภาษีที่ลดไป หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ กับ 2.การนำเงินอัดฉีดเข้าไปในระบบก็คือส่งให้กับประชาชนไปใช้จ่ายโดยตรง
โดยต้องยอมรับว่าวันนี้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิค-19 รุนแรง และไม่อาจคาดเดาได้ว่าสถานการณ์จะดำเนินถึงเมื่อไหร่ จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการระยะสั้น เพื่อพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปกว่านี้ และการส่งเงินให้ถึงประชาชนเพื่อเอาไปใช้จ่ายคือ มาตรการที่ได้ผลเร็วที่สุด และเมื่อสถานการณ์ทุเลาลงแล้วต้องมีมาตรการอื่นๆเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจต่อไป
ขณะที่การส่งเงินถึงมือประชาชนโดยตรงนั้นเป็นเพียง 1 ในชุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกกลุ่มเป้าหมาย และเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งจะต้องผ่านการพิจารณาของทุกฝ่ายอีกครั้งในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจก่อนที่จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไป
สำหรับเป้าหมายของมาตรการนี้เพื่อให้ประชาชนนำไปซื้อสินค้า ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เมื่อมีการซื้อขายสินค้าบริการต่างๆเกิดขึ้น เม็ดเงินก็จะหมุนไปในหลายๆภาคส่วน และหลายๆรอบ คือเมื่อเกิดการซื้อก็มีการผลิต เมื่อมีการผลิตก็จะมีการจ้างงาน มีการซื้อวัตถุดิบ “เราต้องช่วยกันครับ คนไทยทุกคนกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ความร่วมมือร่วมใจกันจะพาเราผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ขอบคุณครับ”
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติงานกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ไม่อยากให้มองแยกส่วน อยากให้มองเป็นชุดมาตรการลดผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งระบบ เป็นการให้ความช่วยเหลือชั่วคราว ดูแลผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ให้มีเงินในกระเป๋าไว้จับจ่าย
รัฐบาลไม่ได้ใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายถึงแสนล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รัฐบาลจะส่งเสริมให้มีการฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มศักยภาพให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่จะใช้งบประมาณเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาถึงความเหมาะสมของคณะรัฐมนตรี
รัฐบาลในหลายประเทศที่กำลังประสบปัญหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ระบาด ก็มีชุดมาตรการระยะสั้นเพื่อพยุงเศรษฐกิจภายในประเทศเช่นกัน อาทิ กระทรวงการคลังฮ่องกง ออกแถลงข่าวในวันที่ 26 ก.พ.63 ว่าจะแจกเงินให้ประชาชน 7 ล้านคนๆ ละ 41,000 บาท เพื่อให้จับจ่ายซื้อสินค้าและบริการจากภาคธุรกิจ บรรเทาพิษเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุด
นายชาญกฤช กล่าวปิดท้ายว่า “รัฐบาลก็มีชุดมาตรการระยะยาวเพื่อดูแลเศรษฐกิจทั้งระบบด้วยเช่นกัน อาทิ โครงการประชารัฐสร้างไทย ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้แต่ละชุมชนทั่วทั้งประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้งเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมอย่างตรงจุดและยั่งยืน