ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหยุดใช้ยาต้านไวรัส หลังได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากไขกระดูกของผู้บริจาครายหนึ่ง ซึ่งมีภูมิต้านทานไวรัส และตรวจไม่พบเชื้ออีก ทำให้แพทย์ในอังกฤษคาดว่าผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นรายที่ 2 ที่หายขาดจากการติดเชื้อเอชไอวี
รวินทรา คุปตา ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเชื้อไวรัสเอชไอวี-เอดส์ เปิดเผยผลลัพธ์เชิงบวกหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคซึ่งมียีนกลายพันธุ์ 'ซีซีอาร์ไฟฟ์ เดลตา เธอร์ตีทู' (ccr5 delta 32) ให้แก่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีรายหนึ่งในกรุงลอนดอน ของอังกฤษ ซึ่งสำเร็จลุล่วงด้วยดีตั้งแต่ปี 2017 และผู้ติดเชื้อที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์หยุดใช้ยาต้านไวรัสนาน 18 เดือนจนถึงปัจจุบัน (มี.ค. 2019) และตรวจไม่พบเชื้อในร่างกายอีก ทำให้แพทย์สันนิษฐานว่าผู้ป่วยรายนี้จะเป็นรายที่ 2 ของโลกที่ได้รับการรักษาจนหายจากการติดเชื้อเอชไอวี
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ผู้ป่วยรายแรกที่หายจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี คือ ทิโมธี บราวน์ ชาวอเมริกัน แต่เป็นที่รู้จักในแวดวงการแพทย์จากนามแฝง 'ผู้ป่วยเบอร์ลิน' (Berlin Patient) เนื่องจากเขาเข้ารับการรักษาอาการที่กรุงเบอร์ลิน ของเยอรมนี ระหว่างปี 2007 - 2008 โดยใช้วิธีปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ซึ่งได้รับจากผู้บริจาคที่มียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 เช่นกัน ทำให้คุปตาตั้งสมมติฐานว่ายีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 อาจเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีที่ได้รับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์สามารถหายขาดจากอาการติดเชื้อได้
รอยเตอร์ ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายที่ 2 ใช้นามแฝงว่า 'ผู้ป่วยลอนดอน' (London Patient) เข้ารับการรักษาอาการโรคมะเร็งที่ศูนย์การแพทย์แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน และแพทย์ตัดสินใจให้เขารับการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ของผู้บริจาคที่มียีนกลายพันธุ์ ccr5 delta 32 เพราะยีนดังกล่าวมีภูมิคุ้มกันการติดเชื้อไวรัสได้ดี โดยมักจะพบในกลุ่มประชากรชาวสแกนดิเนเวีย