บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินโบอิ้ง ยอมรับว่ามีการตรวจพบรอยร้าวบริเวณข้อต่อระหว่างปีกกับลำตัวเครื่องบินด้านนอก ตามที่สื่อต่างประเทศเคยรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แต่ยืนยันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ส่งผลกระทบกับเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการใช้งาน
เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว เว็บไซต์ด้านการบินชื่อว่า KOMO ได้เผยแพร่รายงานการตรวจพบรอยร้าวบริเวณ 'พิกเคิลฟอร์ก' หรือส่วนเชื่อมต่อระหว่างปีกเครื่องบินกับลำตัวเครื่องบินด้านนอกของเครื่องรุ่นโบอิ้ง 737 เน็กซ์ เจเนอเรชั่น หรือ 737 เอ็นจี ของบริษัทโบอิ้ง โดยอ้างอิงแหล่งข่าวที่เป็นวิศวกรรายหนึ่งซึ่งไม่ขอเปิดเผยชื่อ
โคโมระบุด้วยว่า 'พิกเคิลฟอร์ก' ถูกออกแบบมาให้ทนทานและรองรับการใช้งานเครื่องบินประมาณ 90,000 เที่ยวบิน แต่รอยร้าวที่พบบนเครื่องบินโบอิ้ง 737 เอ็นจีในช่วงที่ผ่านมา บ่งชี้ว่าเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานแค่ 35,000 เที่ยวบินก็สามารถพบรอยร้าวดังกล่าวได้แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการชำรุดก่อนอายุการใช้งานที่ควรจะเป็น ทำให้บริษัทโบอิ้งประกาศเตือนสายการบินที่เป็นลูกค้าของโบอิ้งทั่วโลก ให้ตรวจสอบและซ่อมแซมกรณีที่พบรอยร้าวในส่วนประกอบด้งกล่าว พร้อมกับยืนยันว่า ยังไม่พบเครื่องบินที่อยู่ระหว่างการใช้งานมีปัญหานี้เกิดขึ้นแต่อย่างใด
ส่วนข้อมูลจากเว็บไซต์ของบริษัทโบอิ้งระบุว่า เครื่องบินรุ่น 737 เอ็นจี ประกอบด้วยเครื่องบินรุ่น 737-700, 737-800 และ 737-900 ซึ่งจะมีการออกแบบเครื่องยนต์และสมรรถนะในระดับเดียวกัน แต่อาจจะแตกต่างกันไปในเรื่องของที่นั่งบนเครื่องบินและความยาวของตัวเครื่อง โดยปัจจุบันมีสายการบินที่ใช้เครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737 เอ็นจีในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสายการบินไรอันแอร์/ ฟลายดูไบ/ ยูไนเต็ดแอร์ไลน์ส/ แอร์ไชน่า/ เจ็ตทู/ คอมแอร์ และอลาสกาแอร์ไลน์
ในส่วนของประเทศไทย โบอิ้งรายงานว่า 'นกแอร์' เป็นผู้สั่งซื้อเครื่องบินรุ่น 737-800 ซึ่งเป็นเครื่องในรุ่นโบอิ้ง 737-เอ็นจี จำนวนทั้งหมด 7 ลำ และมีการส่งมอบเครื่องบินลำแรกของรุ่นนี้ไปตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2558 เป็นต้นมา โดยนกแอร์คาดหวังว่าเครื่องบินรุ่นนี้จะช่วยสายการบินประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงได้มากขึ้น
แม้ว่าทางโบอิ้งจะออกมาชี้แจงและยืนยันความมั่นใจต่อผู้โดยสารทั่วโลกว่าเครื่องบินรุ่นนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากรอยร้าวบริเวณ 'พิกเคิลฟอร์ก' แต่สื่อต่างประเทศบางสำนัก เช่น ซีเอ็นเอ็น และบิสซิเนสอินไซเดอร์ รายงานว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทโบอิ้งยิ่งกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีข่าวคราวที่น่าวิตกกังวลออกมาก่อนแล้ว กรณี 2 สายการบินที่ใช้เครื่องบินโบอิ้ง รุ่น 737 แม็กซ์ ตกกระแทกพื้นหลังจากขึ้นบินได้ไม่นาน ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน
เหตุการณ์เครื่องบินตกทั้งสองครั้ง ได้แก่ กรณีสายการบินไลอ้อนแอร์ อินโดนีเซีย ตกหลังบินออกจากกรุงจาการ์ตา เมื่อเดือนตุลาคม 2561 และกรณีเครื่องบินของสายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ ตกหลังจากขึ้นบินได้ไม่นานเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ทำให้สายการบินหลายแห่งทั่วโลกสั่งระงับการใช้เครื่องบินต่างๆ ในรุ่นโบอิ้ง-แม็กซ์ไปก่อน และโบอิ้งสั่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และพบว่าสาเหตุเครื่องบินตกเกิดจากระบบซอฟต์แวร์เครื่องโบอิ้ง 737-แม็กซ์ ทำงานขัดข้อง และพยายามเร่งแก้ไขให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทสายการบินทั่วโลก
ที่ผ่านมา การเดินทางโดยเครื่องบินมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุต่ำกว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะอื่นๆ แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับเครื่องบินที่มีผู้เสียชีวิตพร้อมกันนับร้อยคนในเวลาห่างกันไม่กี่เดือน ทำให้ผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินและผู้กำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางอากาศต้องเร่งตรวจสอบและหาทางป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบรอยร้าวบนเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 737-เอ็นจี ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าบริษัทสายการบินและหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกยังดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อหาทางป้องกันความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการบิน ส่วนผู้โดยสารก็อาจจะต้องติดตามข้อมูลเพิ่มเติมว่าปัญหาเหล่านี้ได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่ เพื่อความปลอดภัยด้านการบินของตัวเอง