ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเยลคิดค้น 'ผิวหนังหุ่นยนต์' โดยเมื่อนำไปสวมใส่ให้วัตถุต่าง ๆ แล้ว วัตถุนั้นจะกลายเป็นหุ่นยนต์ที่สามารถสั่งการได้
รีเบกกา เครเมอร์-บอตติกลิโอ นักหุ่นยนต์วิทยา จากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐฯ ร่วมกับทีมงานของเธอในการผลิต 'ผิวหนังหุ่นยนต์' หรือ Robotic Skin ที่ยืดหยุ่นและสามารถสวมใส่ให้กับวัตถุได้หลากหลายชนิด ภายใต้ชื่อโปรเจกต์อย่างเป็นทางการว่า 'ออมนิ สกิน' (OmniSkin) ซึ่งภายใต้ผิวดังกล่าวจะมีเซนเซอร์และตัวควบคุม สามารถถอดประกอบได้หลายแบบ ในลักษณะเดียวกับตัวต่อเลโก้
เครเมอร์-บอตติกลิโอ เพิ่งเปิดตัว ออมนิ สกิน ไปในงานสัปดาห์วิทยาการหุ่นยนต์เมื่อสัปดาห์ก่อน โดยได้ไอเดียตั้งต้นมาจากโครงการขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือ นาซา ที่ต้องการให้มีการพัฒนา 'ระบบหุ่นยนต์แบบอ่อน' หรือ Soft Robotic Systems เพื่อนำไปใช้ในโครงการอวกาศต่อไป
แม้ว่ารูปลักษณ์ของ ออมนิ สกิน รุ่นต้นแบบ จะไม่เหมาะกับการท่องอวกาศนัก แต่ด้วยวัสดุที่น้ำหนักเบาและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อย ๆ ทำให้ ออมนิ สกิน เหมาะจะนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลายแบบ และสามารถพัฒนาเป็นอุปกรณ์สำหรับนักบินอวกาศได้ง่าย
เครเมอร์-บอตติกลิโอ เพิ่งได้รับงบประมาณ 2 ล้านดอลลาร์ หรือ 65 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโปรเจกต์หุ่นยนต์ในลักษณะคล้ายกันนี้ จากมูลนิธิวิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยเธอจะนำเทคโนโลยีเครื่องพิมพ์สามมิติเข้ามาร่วมด้วย