สื่อใหญ่พาย้อนดูวีรกรรม 5 ครั้งที่ 'เฟซบุ๊ก' ตั้งใจป่วน 'อินสตาแกรม' หลังผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมทั้ง 2 คน ประกาศลาออกจากบริษัท เพราะความตึงเครียดเชิงธุรกิจที่กินเวลานานหลายปี
หลังจากที่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เว็บไซต์ CNN Money รายงานว่านายเควิน ซิสตรอม และนายไมเคิล ครีเกอร์ สองผู้ก่อตั้งอินสตาแกรม แอปพลิเคชันแชร์รูปภาพที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก ประกาศลาออกจากบริษัทที่พวกเขาก่อตั้งกันมาตั้งแต่ปี 2010 เนื่องจากต้องการเดินออกมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ท่ามกลางกระแสที่สื่อหลายสำนักรายงานว่า ผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมทั้ง 2 กับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก หัวหอกใหญ่แห่งบริษัทเฟซบุ๊ก มีเรื่องไม่ลงรอยกันยืดเยื้อมานานหลายปีและทวีความรุนแรงมากขึ้นจนต้องประกาศแยกทาง
ล่าสุด สื่อใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง The Verge ออกบทวิเคราะห์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเหตุการณ์ 5 ครั้ง ที่เฟซบุ๊กพยายามเข้ามาก้าวก่ายการดำเนินงานของอินสตาแกรมอย่างไม่เป็นธรรม จนน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมตัดสินใจลาออก โดยเหตุการณ์แรกก็คือการจัดการกับ 'สตอรี' หรือวิดีโอที่ถูกโพสต์ขึ้นบนอินสตาแกรมซึ่งจะหายไปภายใน 24 ชั่วโมง
โดยเฟซบุ๊กเปิดฟังก์ชันให้ผู้ใช้บริการสามารถแชร์สตอรีที่โพสต์บนอินสตาแกรมไปยังเฟซบุ๊กได้โดยตรง โดยไม่ต้องเสียเวลาไปโพสต์ใหม่อีกครั้งบนเฟซบุ๊ก ซึ่งในช่วงแรกฟีเจอร์สตอรีนี้ถูกมองว่าเป็นการลอกเลียนแบบสแนปแชตมาอย่างเนียน ๆ แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จอย่างถล่มทลายบนอินสตาแกรม แต่กลับไปไม่ได้สวยเท่าไรนักบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก
เหตุการณ์ที่ 2 ก็คือ การที่เฟซบุ๊กนั้นใส่ปุ่ม 'แฮมเบอร์เกอร์เมนู' เข้าไปบนหน้าหลักของอินสตาแกรมโดยไม่มีความจำเป็น โดยปุ่ม 'แฮมเบอร์เกอร์เมนู' ที่ว่านี้ก็คือปุ่มขีด 3 ขีดที่เรียงซ้อนกัน ซึ่งใช้ในการเปิดไปสู่หน้าของเมนูอื่น ๆ ที่ถูกซ่อนอยู่ โดยเมื่อเรากดเข้าไปแล้วจะพบกับ 3 เมนู คือ Saved ที่ใช้สำหรับการกดเข้าไปดูรูปภาพที่ผู้ใช้กดบันทึกไว้ Discover People สำหรับการค้นหาเพื่อนเพิ่มเติมที่อาจเป็นเพื่อนร่วมกันในเฟซบุ๊ก และปุ่ม Open Facebook ที่ให้ผู้ใช้งานอินสตาแกรมสามารถกดเปิดใช้งานแอปพลิเคชันของเฟซบุ๊กได้ทันที แน่นอนว่าการมีปุ่มแฮมเบอร์เกอร์นี้คือสิ่งที่นายไมเคิล ครีเกอร์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2015 ว่าเขาไม่ต้องการให้มี
เหตุการณ์ที่ 3 เกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เมื่ออยู่ดี ๆ ก็มีผู้ใช้งานอินสตาแกรมบางคนได้รับการแจ้งเตือนว่า มีเพื่อนโพสต์รูปภาพ แต่เมื่อคลิกเข้าไปดู กลับพบว่าภาพที่โพสต์นั้นไม่ได้ถูกโพสต์บนอินสตาแกรม แต่เป็นภาพที่เพื่อนโพสต์ลงไปบนเฟซบุ๊กต่างหาก
แน่นอนว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากบนโซเชียลมีเดีย และผู้ใช้งานส่วนใหญ่ก็มีความรู้สึกไปในทางเดียวกันคือไม่พอใจ เพราะเป็นการทำงานที่แทรกแซงและก้าวก่ายกันมากจนเกินไป สร้างความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้งาน ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ทางอินสตาแกรมก็ได้ยุติการทดสอบดังกล่าวลง และพบว่ามีผู้ใช้งานอินสตาแกรมเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับข้อความแจ้งเตือนในลักษณะดังกล่าว
เหตุการณ์ที่ 4 คือการที่เฟซบุ๊กนั้นมีความพยายามที่จะลดการโปรโมตแอปพลิเคชันอินสตาแกรม และลดบทบาทความสำคัญของโพสต์ที่ถูกแชร์จากอินสตาแกรมมายังหน้าแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก โดยเว็บไซต์ Recode เคยรายงานเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ว่านายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้สั่งการให้เฟซบุ๊กลดการโปรโมต และการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กเข้าถึงอินสตาแกรมลง
ข้อพิสูจน์ที่ทำให้เราเห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงนี้ชัดเจนขึ้น ก็คือภาพถ่ายหรือวิดีโอที่โพสต์ลงบนอินสตาแกรม และถูกแชร์ต่อมายังเฟซบุ๊ก จะเป็นการแชร์ที่ดูเหมือนราวกับว่าภาพและวิดีโอนั้นถูกโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กตั้งแต่แรก เพราะไม่มีการแสดงโลโก้ของอินสตาแกรม หรือไม่มีการพูดถึงแหล่งที่มาของภาพและวิดีโออย่างชัดเจนเหมือนในอดีต พร้อมทั้งเฟซบุ๊กยังได้ลบปุ่มลัดในการเชื่อมต่อจากเฟซบุ๊กไปยังอินสตาแกรมอีกด้วย ซึ่งตรงกันข้ามกับการมีปุ่มลัดของเฟซบุ๊กในอินสตาแกรมอย่างสิ้นเชิง
เหตุการณ์สุดท้ายก็คือนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ได้ทำการแต่งตั้งผู้บริหารของเฟซบุ๊กไปทำหน้าที่ผู้บริหารของอินสตาแกรม แม้ว่าในช่วงแรกหลังจากที่เฟซบุ๊กเข้าซื้อกิจการอินสตาแกรมมา เขายืนยันว่าจะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานมากเช่นนั้นก็ตาม โดยขณะนี้นายอดัม มอสเซอร์รี อดีตรองประธานของเฟซบุ๊กผู้ดูแลนิวส์ฟีดและผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ได้รับการแต่งตั้งในช่วงการปรับองค์กรครั้งใหญ่เมื่อเดือนพฤษภาคม ให้เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของอินสตาแกรมแทน และในขณะนี้เมื่อผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมประกาศลาออกทั้ง 2 คน นายมอสเซอร์รีมีโอกาสสูงมากที่จะเข้ามาเป็นบอสใหญ่ของอินสตาแกรมแทน
แม้ว่าจะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ทั้งโลกเชื่อว่าความบาดหมางมากมายคือชนวนที่ทำให้นายเควิน ซิสตรอม และนายไมเคิล ครีเกอร์ ตัดสินใจทิ้งสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองกับมือ แต่ในแถลงการณ์การลาออกของทั้งคู่กลับระบุว่า ทั้งคู่วางแผนที่ใช้เวลาว่างออกสำรวจและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อีกครั้ง ซึ่งการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ว่านั้นทำให้ต้องกลับถอยหลังไปหนึ่งก้าว เพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาทั้ง 2 คน และอะไรเป็นสิ่งที่ลงตัวกับสิ่งที่โลกต้องการ
ทางด้านนายมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้บริหารเฟซบุ๊ก ที่เป็นเจ้าของกิจการอินสตาแกรมในปัจจุบันกล่าวว่า ทั้งเควินและไมเคิลเป็นผู้นำที่มีความโดดเด่น และอินสตาแกรมก็เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นพรสวรรค์ของพวกเขา นายมาร์กยังกล่าวอีกว่า 6 ปีที่ผ่านมา เขาได้เรียนรู้การทำงานมากมายจากทั้งคู่ และเขาตั้งตารอดูว่าพวกเขาจะสร้างสรรค์สิ่งใดออกมาใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ เฟซบุ๊กได้เข้าซื้อกิจการของอินสตาแกรมในมูลค่ากว่า 715 ล้านดอลลาร์ หรือราว 23,000 ล้านบาท ปัจจุบัน ฟีเจอร์ต่าง ๆ ในอินตาแกรมนั้นต่างมีลูกเล่นที่เหมือนกับเฟซบุ๊ก รวมไปถึงการโฆษณาสินค้าที่ปรากฏในแอปพลิเคชันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อตั้งอินสตาแกรมไม่ใช่ผู้บริหารรายแรกที่ลาออกหลังจากที่เฟซบุ๊กเข้าซื้อกิจการ เพราะก่อนหน้านั้น ยาน คูม ผู้ก่อตั้ง WhatsApp ก็ลาออกจากผู้บริหารแอปพลิเคชันดังกล่าวเช่นกัน ซึ่งเฟซบุ๊กได้เข้าซื้อกิจการของ WhatsApp เมื่อปี 2014