อดีตประธานชุมชนก้มกราบอำลา หวังสร้างอนาคต ‘ป้อมมหากาฬ’ เวอร์ชั่นใหม่พุทธมณฑลสาย2 ขณะผู้กำกับสารคดี ‘Behind the Wall’ มองภาพสะท้อน ‘อำนาจนิยม’ ในยุครัฐประหาร จัดการ ‘เมือง’ อย่างไม่ประนีประนอม
เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2561 ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีการจัดงาน “อำลามหากาฬ” หลังจากทางการรื้อถอนบ้านในชุมชนโบราณอย่างต่อเนื่อง กระทั่งเหลือไม่กี่หลัง โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่จะรื้อถอนบ้านที่เหลือในวันที่ 25 เมษายนนี้
นายธวัชชัย วรมหากุล อดีตประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า หวังว่าทุกคนที่เคยสะสมต้นทุนไว้กับชุมชนป้อมมหากาฬจะไปร่วมเก็บดอกและผลในที่แห่งใหม่ ซึ่งได้เสนอซื้อที่ดินที่พุทธมณฑลสาย 2 โดยขอขอบคุณสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนมหาชน หรือ พอช. ที่ได้รับเรื่องพิจารณา ทั้งนี้ เสนอสร้าง 8 หลัง เป็นบ้านมั่นคง โดยจะเก็บไม้ฝา ไม้ขื่อแปเสา ไปสร้างบ้าน เพื่อให้หวนระลึกถึงความทรงจำ หวังว่าชุมชนคงจะเดินหน้าที่นั่นได้เต็มฝีก้าวไม่ต้องพะวงกับปัญหาที่ไม่ได้เกิดจากตัวเอง และขอให้สื่อมวลชนติดตามป้อมมหากาฬในเวอร์ชั่นใหม่ ซึ่งแน่นอนเกี่ยวกับความเป็นประวัติศาสตร์ท้องถิ่นระหว่างอดีตปัจจุบันและอนาคต
จากนั้น นำชุมชนกล่าวนำอำลา พร้อมก้มกราบขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมในการต่อสู้อันยาวนาน
นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สังคมเรามีโครงสร้างที่แย่ มีความเหลื่อมล้ำเพราะมีนโยบายและกฎหมายหลายฉบับที่ทำให้การต่อสู้ของพี่น้องในชุมชนสู้ไม่ได้ บางที่ต่อสู้ชนะเพราะอยู่ในยุคที่สามารถเจรจาต่อรองได้ ไม่ได้อยู่ในยุคที่ใจดำขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นประวัติศาสตร์ แม้รื้อออกไปแล้วเอากลับมาไม่ได้ แต่การต่อสู้เป็นประวัติศาสตร์ที่มีชีวิตในจิตใจคนมากมาย ท่ามกลางการสรุปบทเรียนความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำที่กำลังดำรงอยู่ในสังคมนี้ เชื่อมั่นว่าเรื่องราวของป้อมมหากาฬ จะตอกย้ำในสังคม ตอกย้ำ กทม.และทหาร รวมถึงหลายคนที่เข้ามามีบทบาทไล่รื้ออย่างไม่ยอมผ่อนปรนทั้งที่มีเหตุผลนานับประการที่ชุมชนต้องอยู่
น.ส.สุภาณัฐ ประจวบสุข ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า อยู่ในชุมชนมาตั้งแต่เกิดปัจจุบันอายุ 54 ปี แต่จะอยู่ที่นี่ได้ถึง วันที่ 24 เม.ย.นี้ หลังจากนี้คงไปเช่าบ้านอยู่รวมกับพี่น้องที่เหลือ ต้องเจอความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพราะเคยที่ว่าที่นี่เป็นบ้านเกิดต้องอยู่ที่นี่จนตาย แต่ก็สู้กับอะไรหลายๆ อย่างไม่ได้
ในฐานะคนในชุมชน คิดว่าชุมชนน่าจะอยู่กับเมืองได้เพราะเราไม่ได้ทำให้เมืองเสื่อมโทรม เรามีแต่การพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้อยู่ ส่วนตัวแม้จะมีปัญหากับรัฐ แต่เราก็ยังเป็นอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ทำงานให้กับหน่วยงานรัฐ ให้ความร่วมมือ ซึ่งถ้าออกจากตรงนี้ก็จะไม่ได้เป็น อสส. ต่อไป เพราะอยู่คนละเขต นอกจากนั้น มีร่างกายที่พิการเป็นกล้ามเนื้ออ่อนแรงและลมชัก ยังไม่รู้ว่าจะไปทำงานที่ไหน
นายอภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา ผู้กำกับสารคดีอิสระ ซึ่งทำสารคดีเกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวถึงกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬว่า สะท้อนอำนาจนิยมที่ไม่มีเหตุผลเพียงพอต่อการพัฒนา เป็นกรณีศึกษาว่า ถ้าแม้แต่ชุมชนนี้ยังอยู่ไม่ได้ ชุมชนอื่นๆ ในประเทศไทยก็ไม่สามารถเอาเหตุผลใดมาสู้อำนาจนิยมได้อีกแล้ว เพราะชุมชนแห่งนี้มีเหตุผลทางงานวิจัยรองรับในหลายมิติทั้งมานุษยวิทยา สถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อม
วันนี้มาเป็นสักขีพยานว่า ชุมชนแห่งนี้ต่อสู้มาอย่างยาวนาน แต่มาพังเพราะอำนาจนิยม อยากให้กำลังใจชุมชนว่ามีเกิด มีดับ ชาวชุมชนทำดีที่สุดแล้ว
นายอภิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า หลังจากมีการรัฐประหารในปี 2557 ก็มีการเปลี่ยนแปลงในจุดที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงยากในรัฐบาลพลเรือน เช่น สะพานเหล็กคลองโอ่งอ่าง ยุคนี้จึงเหมือนมีกลไกพิเศษทำให้ทะลวงความยากในการจัดการ “เมือง”
กรณีป้อมมหากาฬเป็นประเด็นต่อสู้กันมานาน แต่ยังมีข้อแตกต่างจากกรณีอื่นตรงที่น่าจะมีวิธีประนีประนอมได้ดีกว่า เนื่องจากมีงานวิจัย แต่สุดท้ายเป็นหลักฐานให้เห็นว่า การใช้เหตุผลไม่สามารถสู้ได้ อยากให้กรณีนี้เป็นกรณีศึกษาเพราะวันหนึ่งอาจจะมาเสียดายเมื่อสังคมมีองค์ความรู้มากพอ
ป้อมมหากาฬเชื่อว่าถ้าไม่ใช่รัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารน่าจะรื้อชุมชนได้ยากกว่านี้ เพราะน่าจะมีกระบวนการเจรจา เช่น ยุคผู้ว่าฯ กทม. ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มีการประนีประนอมจะทำวิจัย แต่มาถึงตอนนี้ ในยุคผู้ว่าฯ ที่เราไม่ได้เลือก ก็จัดการ “เมือง” โดยที่ไม่ทันตั้งตัวหลายๆ จุด ทั้งที่ควรจะรับฟังคำคัดค้านหรือเสนอแนะ ซึ่งถ้าหากผู้ว่าฯ หรือรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ผลลัพธ์อาจจะต่างจากวันนี้