วิจัยใหม่ระบุ คนเคยอ้วนจะหิวกว่าคนทั่วไป และโรคอ้วนเป็นปัญหาที่กินเวลายาวนานตลอดชีวิต คนรอบข้างควรทำความเข้าใจ
มหาวิทยาลัยการวิจัยด้านวิทยาศาตร์และเทคโนโลยีนอร์วีเจียน ประเทศนอร์เวย์ เปิดเผยผลการศึกษาใน 'วารสารสรีรวิทยา วิทยาต่อมไร้ท่อ และระบบการเผาผลาญ' โดยระบุว่า คนที่ลดน้ำหนักลงแล้ว ร่างกายยังคงผลิต 'เกรลิน' ซึ่งเป็นเปปไทด์ฮอร์โมนที่กำหนดความรู้สึกหิว เท่ากับว่าการลดน้ำหนักนั้นจะทำให้หิวยิ่งขึ้น และความไม่สมดุลของฮอร์โมนนี้จะไม่เปลี่ยนแปลงแม้เวลาผ่านไป
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยใช้เวลา 2 ปี ศึกษาและตรวจสอบพฤติกรรมการกินของผู้ป่วยโรคอ้วนที่มีน้ำหนักเฉลี่ย 125 กิโลกรัม จำนวน 34 คน ที่เข้าโปรแกรมลดน้ำหนักในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าทุกคนรู้สึกหิวมากกว่าช่วงก่อนลดน้ำหนัก โดยเมื่อจบโปรแกรมแต่ละคนเฉลี่ยลดน้ำหนักได้ 11 กิโลกรัม
อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนไม่ใช่สาเหตุเดียวของความรู้สึกหิว โดยในหลายกรณี เมื่อคนลดน้ำหนัก ร่างกายจะสั่งให้กักตุนพลังงานไว้ เพื่อเตรียมร่างกายให้กลับสู่น้ำหนักเท่าเดิม ทำให้ร่างกายรู้สึกหิวแม้ว่าจะไม่ต้องการพลังงานก็ตาม ซึ่งนอกจากปัจจัยทั้งหมดนี้แ��้ว ยังมีปัจจัยปลีกย่อยไปตามแต่ละบุคคลด้วย เช่น พันธุกรรม พฤติกรรมการกิน และการใช้ชีวิต
สุดท้ายแล้ว งานวิจัยฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่า โรคอ้วนเป็นปัญหาระยะยาวที่ต้องอาศัยความพยายามปรับตัวตลอดชีวิต ไม่ใช่ว่ารักษาระยะสั้นให้น้ำหนักผ่านเกณฑ์แล้วจะถือว่าสิ้นสุดปัญหาได้ คนรอบข้างจึงควรทำความเข้าใจและให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง