ข่าวดีสำหรับผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ที่จะมีทางเลือกเรื่องการรับประทานไก่มากขึ้น เมื่อมหาวิทยาลัยขอนแก่น จับมือภาคเอกชน นำงานวิจัยไก่พันธุ์ใหม่ที่มีกรดยูริกต่ำ ไปป้อนร้านอาหารแบรนด์ดังทั่วประเทศ 255 สาขา
อาหารที่มีส่วนประกอบเป็นเนื้อไก่ เคยเป็นอาหารที่ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ควรหลีกเลี่ยง แต่หลังจากนี้เป็นต้นไป พวกเขาจะมีทางเลือกในการบริโภคมากขึ้น เพราะคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อยอดงานวิจัยไก่พื้นเมืองพันธุ์ใหม่ที่มีกรดยูริกต่ำ หรือ พันธุ์ เคเคยู 1 ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เน้นเจาะกลุ่มเป้าหมายคนรักสุขภาพ และผู้ป่วยโรคเก๊าท์ ที่ยังต้องการรับประทานไก่
ไก่พันธุ์ใหม่นี้ มีปริมาณกรดยูริคต่ำกว่าไก่เนื้อทั่วไป มีไขมันที่ช่องท้องน้อยกว่า แต่ให้โปรตีนมากกว่าไก่ปกติ จึงตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ในวงกว้าง
บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หนึ่งในพันธมิตรเชิงพาณิชย์ของโครงการนี้ และเป็นเจ้าของร้านอาหารหลายประเภท เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่นเซ็น ตำมั่ว ออนเดอะเทเบิ้ล เล่าว่า ปัจจุบันเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น สามารถผลิตไก่ชำแหละได้วันละ 20,000 ตัว ขณะที่นโยบายของบริษัทฯ ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ภูมิภาค และการผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ
ตั้งแต่ 1 มีนาคมนี้ ร้านอาหารอีสานสัญชาติไทย ตำมั่ว จะเริ่มใช้ไก่ที่มีกรดยูริคต่ำ เป็นวัตถุดิบหลักในร้านพร้อมกันทั่วทั้งประเทศ