เอธิโอเปียเตรียมนำขยะในหลุมฝังกลบขนาดใหญ่มาผลิตเป็นผลิตพลังงานสะอาด ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปยังครัวเรือนแล้ว ยังสร้างอาชีพให้คนในประเทศอีกหลายตำแหน่ง
หลุมฝังกลบขนาดใหญ่ในประเทศเอธิโอเปียแห่งนี้ได้ชื่อว่า ‘เรปปี (Reppie)’ หรือ ‘โคเช (Koshe)’ ซึ่งแปลว่า ‘สกปรก’ ในภาษาแอมฮาริกที่เป็นภาษาราชการของประเทศ โดยที่นี่ถือเป็นหลุมฝังกลบขยะหลักของกรุงอาดดิสอาบาบา ที่รวบรวมขยะมากกว่า 300,000 ตันต่อปี ซึ่งถูกทิ้งโดยประชากร 5 ล้านคนในเมืองหลวงแห่งนี้
นับจากปี 2013 รัฐบาลของเอธิโอเปียได้ร่วมมือกับบริษัทแคมบริดจ์อินดัสตรีส์ลิมิเต็ด (Cambridge Industries Limited) จากอังกฤษ ในการพัฒนาโรงงานเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นพลังงานแห่งแรกของประเทศ ไว้ใกล้กับหลุมฝังกลบโคเชที่ตั้งมานานครึ่งศตวรรษ แต���โครงการที่มีมูลค่ากว่า 120 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4 พันล้านบาทนี้ กลับถูกทำให้ล่าช้าด้วยหลายปัจจัย
ล่าสุด ทางการเอธิโอเปียได้เผยว่าโครงการนี้ใกล้จะสำเร็จแล้ว และจะสร้างงานให้กับคนในประเทศมากถึง 1,500 คน โดยโรงงานผลิตไฟฟ้านี้อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทกำลังไฟฟ้าแห่งเอธิโอเปีย หรือ EEPCo ซึ่งเป็นของภาครัฐ และสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 185 กิกะวัตต์ต่อชั่วโมง ซึ่ง 30 เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าที่ใช้กับหลอดไฟในครัวเรือนจะมาจากโรงงานแห่งนี้
นอกจากจะได้พลังงานไฟฟ้าแล้ว โรงงานแห่งนี้ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ เพราะปกติแล้วขยะในหลุมฝังกลบมักปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งมีกลิ่นเหม็นและก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก แต่โรงงานแห่งนี้จะติดตั้งอุปกรณ์ดักจับก๊าซมีเทนเพื่อไม่ให้หลุดลอดไปในชั้นบรรยากาศ ตามมาตรฐานยุโรป
โรงงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเศรษฐกิจสีเขียว ที่ภาครัฐลงทุน 150 ล้านเหรียญ หรือราว 5 พันล้านบาทนับจากเดือนพฤศจิกายน 2011 เพื่อกระตุ้นให้เอธิโอเปียเติบโตเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางภายในปี 2025 ไปพร้อมกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก