นักวิทยาศาสตร์ชี้ การกำหนดเกณฑ์เฝ้าระวังอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสนั้นถือว่าสายเกินไป และอาจไม่ช่วยป้องกันผลกระทบรุนแรงที่จะเกิดกับโลกได้
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยบริสตอล ในอังกฤษ รวบรวมผลการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและเสนอให้เลิกใช้เกณฑ์ '2 องศา' หรือ เกณฑ์เฝ้าระวังอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสแทน เพราะหากรอให้เพิ่มถึง 2 องศาเซลเซียส ตามที่ระบุในข้อตกลงปารีส ปี 2015 อาจสายเกินไป
โดยข้อตกลงปารีส ระบุให้เทียบอุณหภูมิโลกจากเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 และลงนามโดย 197 ประเทศ ที่กำหนดเพดานดังกล่าว เพราะเห็นว่าหากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ อาจเกิดสภาวะที่ไม่ปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต เช่น การขาดแคลนอาหารและน้ำดื่ม ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง พืชและสัตว์ทยอยสูญพันธุ์
อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิโลกในปัจจุบันได้เพิ่มจากช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แล้ว 1 องศาเซลเซียส และทำให้เกิดพื้นที่แห้งแล้ง ปัญหาคลื่นความร้อน และพายุรุนแรงจำนวนมาก ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่งเห็นว่า หากยังคงยึดเกณฑ์ 2 องศาเซลเซียสต่อไป ความสูญเสียอาจเกินความสามารถจะแก้ไขได้
ด้านสำนักข่าว AFP ซึ่งได้ข้อมูลร่างเอกสารที่คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ หรือ IPCC เตรียมประกาศในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ กลับระบุว่า การปรับเกณฑ์เป็น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษที่ 21 ไม่น่าจะปฏิบัติได้จริง