สสส. จับมือกรมการแพทย์ พร้อมหน่วยงานสาธารณสุข พัฒนาระบบตรวจสุขภาพ 3 กองทุน เน้นเท่าเทียม คุ้มค่า และมาตรฐานเดียว ตอบรับสังคมผู้สูงอายุ และโลกเทคโนโลยีเปลี่ยนไป
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ร่วมกับกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุม นโยบายการตรวจสุขภาพและการส่งเสริมความรู้ด้านการตรวจสุขภาพที่จำเป็นและเหมาะสมกับประชาชน หลังสถานการณ์การตรวจสุขภาพยังไม่สมดุล ประชาชนหลายส่วนยังไม่เข้าถึง ขณะที่อีกส่วนกลับตรวจสุขภาพเกินความจำเป็น โดยมีภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเข้าร่วม
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ระบุว่า ขณะนี้ได้ยกระดับแนวทางตรวจสุขภาพที่จำเป็น และเหมาะสมเป็น 4 กลุ่ม คือ เด็กและวัยรุ่น วัยทำงาน วัยสูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ โดยกำหนดให้มีมาตรฐานเดียวกันทั้งสวัสดิการข้าราชการ ประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง อาทิ การเอ็กซเรย์ปอดที่จำเป็น เพราะไม่สามารถยืนยันการเจ็บป่วยได้ จะต้องเน้นเฉพาะผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งหน่วยบริการจะเพิ่มน้ำหนักการซักประวัติ และคัดกรอง ให้ละเอียดมากขึ้น เป็นต้น
ขณะที่นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ยืนยันว่า นโยบายการปรับระบบตรวจสุขภาพครั้งใหม่ ต้องคำนึงถึงสังคมผู้สูงอายุ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เพิ่มบทบาทประชาชนให้มีเครื่องมือที่น่าเชื่อถือ สำหรับการตรวจสุขภาพได้ด้วยตนเอง ส่วนการเสริมสร้างป้องกันโรคต้องทำงานเชิงรุกเน้นบทบาทชุมชน และออกแบบโปรแกรมให้ประชาชนมีกิจกรรมเคลื่อนไหวมากขึ้น
การประชุมดังกล่าว ยังมีเวทีเสวนาผู้แทนจาก 3 กองทุนสุขภาพบริการประชาชน หนึ่งในนั้นคือ นายแพทย์กฤช ลี่ทองอิน ที่ปรึกษาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลประชากรกว่าร้อยละ 75 ยืนยันว่า สปสช.ได้ออกระบบตรวจสุขภาพของสิทธิบัตรทองในทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้อง และเหมาะสมกับบริบทของประเทศ อาทิ การดูแลหญิงตั้งครรภ์ตั้งแต่มีครรภ์ จนถึงหลังคลอด เด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 5 ปี โดยยังตรวจภาวะโลหิตจาง ซึ่งเด็กกว่าร้อยละ 30 ของไทยเผชิญปัญหานี้ อย่างไรก็ตามสปสช.ยินดีรับฟังความเห็นทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาสิทธิประโยชน์การตรวจสุขภาพ โดยในอนาคตก็พร้อมพัฒนาให้ประชาชนเรียนรู้ และเพิ่มศักยภาพการดูแลตัวเองเบื้องต้นได้ด้วย