ความพยายามในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก มีหลายภาคส่วนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด หน่วยงานของสถานศึกษา มีแนวคิดผลิตอุปกรณ์ที่สามารถแจ้งเตือนความหนาแน่นของระดับฝุ่นในที่นั่นๆ รวมถึงสามารถไล่ฝุ่นได้แบบอัตโนมัติ
แนวคิดที่ว่า คือ "ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ" ออกแบบโดย สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ หรือ SCiRA (ไซร่า) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
รองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ ประพัทธ์พงษ์ อุปลา ผู้อำนวยการไซร่า เปิดเผยว่า จากการลงพื้นที่สำรวจปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก พบว่าตามป้ายรถเมล์จะมีปริมาณฝุ่นละออง โดยเฉพาะ PM 2.5 หนาแน่นที่สุด รวมถึงจุดดังกล่าวมีประชาชนอยู่จำนวนมาก ไซร่าจึงมีแนวคิดเตือนภัยรวมถึงใช้พลังงานลมไล่ฝุ่นออกไปแบบอัตโนมัติ
ซึ่งป้ายรถเมล์อัจฉริยะ จะประยุกต์จากจุดรอรถเมล์ที่มีอยู่เดิม ติดตั้งเซ็นเซอร์ตรวจวัดฝุ่นละออง หากเซ็นเซอร์ตรวจจับว่ามีปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน ระบบพัดลมจะทำงานโดยอัตโนมัติ เพื่อเป่าไล่ฝุ่นออกจากจุดที่ประชาชนอยู่หนาแน่นทันที นอกจากนี้ ยังมีจอที่แจ้งเตือนคุณภาพอากาศโดยรวมของกรุงเทพมหานครแบบเรียลไทม์ด้วย
นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนปรับปรุงป้ายรถเมล์อัจฉริยะดังกล่าว เป็น Smart Bus Stop มีฟังก์ชั่นเรียกรถพยาบาล เรียกตำรวจ เรียกแท็กซี่ อีกทั้งมีการพัฒนาระบบอัจฉริยะเอไอ (AI) ช่วยในการแก้ไขปัญหาจราจรแบบเรียลไทม์ บิ๊กเดต้า (Big Data) ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงให้ข้อมูลการเดินทางได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ป้ายรถเมล์อัจฉริยะใช้งบลงทุนราว 25,000 บาทต่อป้ายเท่านั้น ซึ่งกรุงเทพมหานครมีป้ายที่เป็นจุดเสี่ยงมีความหนาแน่นของ PM2.5 สูง ราว 5 พันป้าย โดยปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนทดลองระบบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพ หากกรุงเทพมหานครและรัฐบาลขานรับแนวคิดดังกล่าว ไซร่า พร้อมผลักดันทันที