กูเกิลระงับบริการต่าง ๆ ในอุปกรณ์ของหัวเว่ย ซึ่งจะยกเลิกการให้บริการระบบแอนดรอยด์ ในโทรศัพท์รุ่นใหม่ ถือเป็นมาตรการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงให้กับสหรัฐฯ
บริษัทกูเกิลออกแถลงการณ์ระบุว่า กูเกิลได้ระงับการดำเนินธุรกิจกับ 'หัวเว่ย' บริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนในส่วนที่ต้องการแลกเปลี่ยนข้อมูลของระบบฮาร์ดแวร์ ระบบปฏิบัติการ และการให้บริการทางเทคนิคต่าง ๆ อย่างเป็นทางการ ตามคำขอของรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้ขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยไปก่อนหน้านี้
แม้ว่ากูเกิลจะระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ที่ให้บริการอยู่ในโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารของหัวเว่ยในปัจจุบันจะยังสามารถใช้งานได้ต่อไป แต่สมาร์ตโฟนของหัวเว่ยจะไม่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันและระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ของแอนดรอยด์ได้หลังจากนี้ รวมไปถึง Google Play Store, Gmail และ YouTube ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นจะส่งผลไปถึงสมาร์ตโฟนรุ่นดังอย่าง P30 Pro, P30 Pro รุ่นใหม่ และ Mate 20 Pro ที่จะไม่สามารถอัปเดตระบบความปลอดภัยของแอนดรอยด์ได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้งานอุปกรณ์สื่อสารของหัวเว่ยในจีนกลับกลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบที่ไม่มากเท่าชาติอื่น ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะปัจจุบันชาวจีนแผ่นดินใหญ่ไม่ได้เข้าใช้ Google เพื่อการค้นหาข้อมูลอยู่เเล้ว และพวกเขาก็มีบริการเซิร์ชเอ็นจินของไป่ตู้ที่ใช้งานได้เหมือนกัน ขณะที่ ด้านการชมคอนเทนต์นั้น ชาวจีนก็ไม่ได้เข้าชมวิดีโอจาก Youtube แต่เป็น Youku (โยวคู่) และ iQiyi (อ้ายฉีอี้) แทน ฉะนั้นผู้ใช้งานที่จะได้รับผลกระทบเต็ม ๆ ก็คือลูกค้าของหัวเว่ยที่อยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่
ไม่เพียงเท่านั้น สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึงเรื่องนี้ด้วยว่า นอกจากบริษัทกูเกิลแล้ว หัวเว่ยมีโอกาสสูงมากที่จะถูกแบนจากบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกันเพิ่มเติม อย่างเช่น Intel ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปเซิร์ฟเวอร์ให้กับหัวเว่ย บริษัท Qualcomm ผู้ขายโมเด็มและชิปประมวลผลให้กับหัวเว่ย บริษัท Broadcomm ผู้ผลิตชิปสำหรับสวิตช์ของหัวเว่ย และบริษัท Xilinx (ซีลิงซ์) อีกหนึ่งผู้ผลิตชิป ก็มีทีท่าจะยุติการร่วมธุรกิจกับหัวเว่ยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 4 บริษัทยังไม่ออกมาให้ความเห็นใด ๆ
ความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่นี้เกิดขึ���นหลังจากที่วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ขึ้นบัญชีดำทางการค้ากับบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติจีนอย่างหัวเว่ยและบริษัทในเครือราว 70 แห่ง ซึ่งมีผลทำให้เกิดข้อจำกัดในบริษัทต่าง ๆ ที่เข้ามาทำธุกริจในสหรัฐฯ และในวันถัดมา กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ก็ออกมาระบุว่า การขึ้นบัญชีดำมีไว้เพื่อป้องกันการแทรกแซงเครือข่ายและอุปกรณ์เทคโนโลยีจากจีน
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ระบุว่าหัวเว่ยทำผิดสัญญาว่าด้วยการเผยแพร่ข้อมูลลับจากงานวิจัยร่วมระหว่าง 2 ประเทศ บวกกับกรณีที่จีนละเมิดมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ระหว่างปี 2009 ถึง 2014 จนเป็นเหตุให้มีการจับกุมตัวลูกสาวเจ้าของบริษัทหัวเว่ยอย่าง เมิ่งหว่านโจว ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน หรือ CFO ของบริษัท
มาตรการขึ้นบัญชีดำที่ว่านี้ กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้เพิ่มหัวเว่ยในรายชื่อบริษัทที่ต้องจับตาภายใต้กฎระเบียบของฝ่ายบริหารการส่งออกสหรัฐฯ ซึ่งจะแบนหัวเว่ยไม่ให้ใช้เทคโนโลยีจากบริษัทสัญชาติอเมริกัน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ก่อน ซึ่งท่าทีดังกล่าวยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนยิ่งย่ำแย่ลงกว่าเดิมที่มีการตั้งกำแพงภาษี ยกระดับสงครามการค้าระหว่างกัน
แถลงการณ์ของทำเนียบขาวว่าด้วยการขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยครั้งล่าสุดระบุว่า คำสั่งประธานาธิบดีมีเป้าหมายที่จะปกป้องชาวอเมริกันจาก "ศัตรูต่างชาติ" ที่สร้างจุดอ่อนและใช้ประโยชน์จากโครงสร้างและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคำสั่งนี้มอบอำนาจให้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในการห้ามการดำเนินธุรกิจใด ๆ ที่เสี่ยงจะเป็นภัยอย่างไม่อาจยอมรับได้ต่อความมั่นคงของชาติ ตลอดจนห้ามใช้เทคโนโลยีที่ถูกออกแบบ พัฒนา ผลิตหรือใช้ส่วนประกอบของบุคคล เป็นเจ้าของ ควบคุม หรือเกี่ยวข้องกับศัตรูของชาติ
ด้าน อาจิต ไพ ประธานคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสารของสหรัฐฯ หรือ FCC ก็ออกแถลงการณ์การสนับสนุนคำสั่งประธานาธิบดี โดยระบุว่า นี่เป็นก้าวสำคัญไปสู่การป้องกันเครือข่ายต่าง ๆ ของสหรัฐฯ
ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้ออกมากล่าวว่า ทางบริษัทได้พัฒนาระบบปฏิบัติการของสมาร์ตโฟนและคอมพิวเตอร์เป็นของตนเองแล้ว เพื่อเป็นแผนสำรอง หากถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำ หรือใช้มาตรการที่เข้มงวดกับหุ้นส่วนธุรกิจ
ที่ผ่านมา หัวเว่ยตกเป็นที่ต้องสงสัยว่าเป็นสายลับให้กับรัฐบาลจีนโดยผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ และรัฐบาลของประธานาธิบดีทรัมป์ก็ได้เรียกร้องให้ชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ 'แบน' อุปกรณ์และเทคโนโลยีของหัวเว่ย ซึ่งออสเตรเลีย นิวซีเเลนด์ และหลายประเทศในแถบยุโรปได้ระงับโครงการที่พัฒนาร่วมกับหัวเว่ยในช่วงปีที่ผ่านมา รวมไปถึงการวางระบบเครือข่าย 5G ในประเทศต่าง ๆ แล้ว