นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และ อดีต กกต. แถลงข่าวที่พรรคประชาธิปัตย์ถึงกรณีจัดระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐในรูปแบบการจัดโต๊ะจีน ซึ่งก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายว่า มาตรา 73 ของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งระบุไว้ ห้ามมิให้ข้าราชการการเมืองใช้สถานะหรือตำแหน่งหน้าที่เรี่ยไร หรือชักชวนให้มีการบริจาคให้พรรคการเมือง หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่การจัดงานระดมทุนของพรรคพลังประชารัฐมีข้าราชการการเมืองที่เกี่ยวข้อง 4 รายการ คือ
- กรณีแรก เป็นโต๊ะจีนในนามนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีจำนวน 4 โต๊ะ 12 ล้านบาท ต้องตรวจสอบว่าได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปเรี่ยไรหรือไม่ หรือหากตัวรัฐมนตรีเป็นผู้บริจาคเอง ตามกฎหมายระบุว่า จะบริจาคให้พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ดังนั้นอีก 2 ล้านบาทเป็นเงินที่ได้มาจากไหนต้องตรวจสอบ
- กรณีที่สอง เป็นโต๊ะจีนของนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค จำนวน 1 โต๊ะ 3 ล้านบาท กรณีนี้ตรวจสอบไม่ยาก เพราะหากนายอุตตมเป็นผู้บริจาคเองก็จบ แต่หากเงิน 3 ล้านบาทไปเรี่ยไรจากคนอื่นก็จะผิดในฐานะใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมไปเรี่ยไรเงิน
- กรณี นายณพพงศ์ ธีระวร หรือ ดร.เอก ที่ปรึกษารัฐมนตรีพาณิชย์และรัฐมนตรีอุตสาหกรรม มีความลึกลับซับซ้อน เพราะบริจาคจำนวนเงินที่สูงมากที่สุด มีการระบุว่า จองโต๊ะถึง 24 โต๊ะ 72 ล้านบาท หาก ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาของสองรัฐมนตรีจริง และจ่ายเงินของตนเองจริง จะได้ไม่เกิน 10 ล้านบาท จึงเป็นภาระที่ต้องพิสูจน์ว่าเกิดจากการเรี่ยไรหรือไม่
แต่ในทางนิตินัย กลับพบว่า ดร.เอก เป็นที่ปรึกษาจากการแต่งตั้งพิเศษของรัฐมนตรีพาณิชย์ ไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่ถือว่าเป็นที่รับรู้ของสังคม เพราะมีการให้เครดิตตัวเองบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เป็นที่ปรึกษาทั้งที่ความจริง ไม่ได้เป็นที่ปรึกษาโดยตำแหน่ง ซึ่งมาตรา 73 ไม่ครอบคลุมถึง จึงไม่เข้าข่ายข้าราชการการเมือง เอาผิดไม่ได้ แต่อยากชี้ให้สังคมเห็นว่ามีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อทำหน้าที่หาเงินเข้าพรรค ดังนั้นคนที่เป็นรัฐมนตรี คนที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ดร.เอก ต้องรู้จักละอายและรับผิดชอบในเรื่องนี้ และกรรมการบริหารพรรคในฐานะที่เป็นองค์รวมของกิจกรรมนี้ ต้องไปตรวจสอบว่ามีใครชักชวนให้มาร่วมบริจาคหรือไม่
- ส่วนรายการที่ 4 คือ กรรมการบริหารพรรค 3 โต๊ะ 9 ล้านบาท ซึ่งมี 7 คน ใน 26 คน ที่เป็นข้าราชการการเมือง จึงต้อบไปตรวจสอบว่าทั้ง 7 คนนี้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปชักชวนเรี่ยไรหรือไม่ ถือว่าต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะกรรมการบริหารพรรคด้วย ซึ่งต้องดูตามกฎหมายว่าจะพาดพิงถืงกรรมการบริหารพรรคหรือไม่ ซึ่งในมาตราที่ 27 กำหนดโทษไว้ชัดว่า ใครทำผิดมาตรา 73 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สี่หมื่นถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี เรื่องนี้จึงต้องเดินหน้าต่อ และทั้ง 10 คนต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความผิด