สถานการณ์การประท้วงในฮ่องกงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งการประท้วงย���่งทำให้ผู้ประท้วงกับตำรวจฮ่องกงเกลียดกันมากขึ้น จนในที่สุดทัศนคติต่อความรุนแรงของชาวฮ่องกงก็เปลี่ยนไปด้วย
สำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ลงบทความที่อธิบายให้ “เข้าใจจิตวิทยาเกี่ยวกับความเกลียดชัง” ระหว่างผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและตำรวจ โดยระบุว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในฮ่องกงช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ฮ่องกงได้แบ่งแยกออกเป็น 2 ขั้วอย่างชัดเจน ระหว่างผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลฮ่องกงและตำรวจฮ่องกง และต่างฝ่ายต่างรู้สึกว่าการใช้ความรุนแรงของฝ่ายตนเองมีความชอบธรรม
กฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปให้จีนแผ่นดินใหญ่เป็นชนวนที่ทำให้ชาวฮ่องกงนับล้านคนออกมาประท้วงตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ในช่วง 10 สัปดาห์ที่ผ่านมา การประท้วงได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงเริ่มแรกค่อนข้างมาก การเดินขบวนโดยสงบได้ยกระดับไปเป็นการบุกรัฐสภา ไปจนถึงการบุกไปประท้วงที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง การปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจฮ่องกงก็มีให้เห็นเกือบทุกสัปดาห์ ต่างฝ่ายต่างต่อว่าด่าทอใส่กัน ตำรวจใช้กระบอง แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และกระสุนถุงตะกั่วในการสลายการชุมนุมบ่อยครั้ง จนกลายเกือบเป็นภาพชินตาไปแล้ว และคาดว่าการปะทะกันก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ความรู้สึกหวาดกลัวของผู้ประท้วงชาวฮ่องกงค่อยๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นความเกลียดชังต่อตำรวจ นับตั้งแต่วันที่ 12 มิ.ย.ที่ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางลูกแรกใส่ผู้ชุมนุมอย่างสงบหน้าอาคารรัฐสภา โลกโซเชียลและสื่อต่างชาติได้ช่วยกันเผยแพร่ภาพ “ความโหดร้ายของตำรวจ” ซึ่งมีออกมาใส่เห็นอีกเรื่อยๆ หลังจากนั้น
จนถึงจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งในวันที่ 21 ก.ค. ที่ม็อบเสื้อขาวใช้ไม้ไผ่ไล่ตีผู้โดยสารรถไฟและผู้ประท้วงที่สถานีรถไฟใต้ดินหยุ่นหลง ซึ่งกว่าตำรวจจะไปถึงที่เกิดเหตุก็ใช้เวลาเกือบครึ่งชั่วโมง ทั้งที่ขณะเกิดเหตุก็มีคนเห็นรถตำรวจอยู่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่เกิดเหตุ ทำให้หลายคนกล่าวหาว่าตำรวจสมรู้ร่วมคิดกับ 'ม็อบเสื้อขาว' หรืออย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ตำรวจเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นคราวนั้น
ความเกลียดชังได้แบ่งแยกสังคมฮ่องกงออกเป็น 2 ขั้ว คล้ายกับที่เกิดขึ้นช่วงการเคลื่อนไหวออคคิวพายเซนทรัล หรือที่เรียกว่าปฏิวัติร่มในปี 2014 แต่ความขัดแย้งรอบนี้ยิ่งย่ำแย่ลง และรอยร้าวนี้อาจต้องใช้เวลาเยียวยานานหลายปีกว่าจะหาย โดยสถานการณ์ที่ซับซ้อนทำให้ทัศนคติของชาวฮ่องกงเกี่ยวกับความรุนแรงเริ่มเปลี่ยนไป จากที่ผ่านมา การชุมนุมในฮ่องกงขึ้นชื่อว่าเป็นการชุมนุมที่สงบสันติ แต่นักวิเคราะห์และการสำรวจหลายสำนักพบว่า ชาวฮ่องกงสามารถอดทนอดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรงได้มากขึ้น
ข้อความที่ส่งต่อกันตามกรุ๊ปแชตบน WhatsApp แอปพลิเคชันยอดนิยมของฮ่องกงมักมีการส่งบทความ รูปภาพหรือวิดีโอที่แสดงภาพให้ผู้ประท้วงเป็นผู้สร้างความวุ่นวาย ก่อความรุนแรง จนเร้าอารมณ์ให้หลายคนรู้สึกว่า รัฐบาลควรปราบปรามการชุมนุมให้เด็ดขาด แม้จะต้องมีคนตายก็ตาม ขณะเดียวกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็มักแชร์ภาพความโหดร้ายของตำรวจ ทำให้ความรู้สึกโกรแค้นตำรวจยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ความเกลียดชังทำให้ชาวฮ่องกงจำนวนมากเริ่มมองว่า การประท้วงโดยใช้ความรุนแรงมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในเรื่องค่านิยมทางการเมืองของชาวฮ่องกงที่มักยึดแนวทางสันติมาตลอด
ที่ผ่านมา การประท้วงมักจะเริ่มต้นอย่างสันติโดยมีคนหลากหลายวัยเข้าร่วมหลายหมื่นคน แต่เมื่อมีการประจัญหน้ากับตำรวจ ผู้ประท้วงฝ่ายฮาร์ดคอร์ที่มักเป็นชายวัย 20 ปีกว่าๆ จะออกมากอยู่แนวหน้า ส่วนผู้ชุมนุมอย่างสันติจะคอยให้กำลังใจอยู่ด้านหลัง โดยพวกเขามองว่า การใช้วิธีการประท้วงที่หลากหลายจะช่วยให้การประท้วงมีประสิทธิภาพ มากกว่าการโทษคนที่ใช้วิธีประท้วงที่แตกต่างออกไป ตราบใดที่ยังมีเป้าหมายเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เอเวอรี อึง นักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยเตือนว่า การจัดหาทุนและอุปกรณ์ให้ฝ่ายฮาร์ดคอร์ไปปะทะกับตำรวจจะทำให้มีคนบาดเจ็บเพิ่มขึ้น และความเกลียดชังระหว่างผู้ประท้วงและตำรวจเป็นวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลปล่อยให้โศกนาฏกรรมย่ำแย่กว่าที่ควรเป็น ผู้ประท้วงไม่เชื่อมั่นว่า ตำรวจฮ่องกงจะบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรมอีกต่อไป และการกระทำของตำรวจจะถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้ประท้วงเห็นว่า เป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลอีกต่อไปที่พวกเขาจะทำตามกฎหมายอย่างไม่ลืมหูลืมตา ในขณะที่ตำรวจที่กระทำผิดไม่ได้รับบทลงโทษ