ไม่พบผลการค้นหา
มองโลก มองไทย - 13ปี สนามบินสุวรรณภูมิยังย่ำอยู่ที่เดิม - FULL EP.
Dec 7, 2019 01:46

รายการ มองโลก มองไทย ประจำวันที่ 7 ธันวาคม 2562

ทุกปีสกายแทรกซ์ (Skytrax) สถาบันวิจัยบริการการบินชั้นนำสัญชาติอังกฤษ ประกาศผลการจัดอันดับ สนามบินที่ดีที่สุดในโลก หรือ World’s Top Airline Awards 2019 ผลปรากฏว่า 

สนามบินซางงี ของสิงคโปร์ ยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์อย่างเหนียวแน่น คว้าอันดับ 1 เป็นปีที่ 7 ติดต่อกัน แต่ละปี สนามบินซางงี รองรับผู้โดยสาร 60-70 ล้านคน โดยในปี 2019 นี้ สนามบินชางงียังคว้ารางวัลที่สุดแห่งสนามบินไปได้อีก 2 รางวัล ได้แก่ World’s Best Airport Leisure Amenities และ Best Airport in Asia จึงเท่ากับว่าปีนี้สนามบินชางงีกวาดไปถึง 3 รางวัลด้วยกัน

อันดับ 2. สนามบินฮาเนะดะ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

สนามบินโตเกียวหรือสนามบินฮาเนดะ ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น มียอดผู้ใช้บริการกว่า 70 ล้านคนต่อปี เป็นหนึ่งในสนามบินที่คับคั่งที่สุดในโลก แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นจากเส้นทางในประเทศ ซึ่งในปี 2018 สนามบินฮาเนดะนั้นอยู่ในอันดับ 3 แต่สำหรับปี 2019 นี้ สามารถแซงสนามบินอินชอนขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งรองแชมป์ พร้อมกับคว้ารางวัลที่สุดแห่งสนามบินอีก 3 รางวัล ได้แก่ World’s Best PRM / Accessible Facilities , World’s Best Domestic Airport , World’s Cleanest Airport

3. สนามบินอินชอน ประเทศเกาหลีใต้

สนามอินชอน ตั้งอยู่ที่เกาะยางจองในประเทศเกาหลีใต้ เป็นสนามบินที่ได้รับการยอมรับจาก Skytrax ว่าเป็นสนามบินระดับ 5 ดาว ร่วมกับสนามบินชางงีและสนามบินฮ่องกง โดยนอกจากสนามบินอินชอนจะเป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 3 ประจำปี 2019 แล้ว สนามบินอินชอนยังได้รับรางวัล World’s Best Transit Airport ในปีนี้อีกด้วย

4. สนามบินฮาหมัด โดฮา ประเทศกาตาร์(อันดับ 6 ปี 2018 /อันดับ 10 ปี 2017)

สนามบินฮาหมัด ตั้งอยู่ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ เป็นสนามบินที่ได้รับการจัดอันดับเป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 4 ของโลกประจำปี 2019 นอกจากนี้ยังคว้ารางวัลอื่นไปอีก 2 รางวัล ได้แก่ Best Airport in Middle East และ Best Airport Staff in Middle East

5. สนามบินฮ่องกง ฮ่องกง

สนามบินฮ่องกงเป็นสนามบินหลักของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเป็นสนามบินที่สร้างขึ้นบนเกาะขนาดใหญ่โดยเกิดขึ้นจากการถมทะเล โดยในปี 2019 ถูกจัดให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 5 ของโลกพร้อมกวาดรางวัล World’s Best Airport Dining และ World’s Best Airport Immigration Service ไปครอง

6. สนามบินชูบุเซ็นแทร์ เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น

สนามบินชูบุเซ็นแทรร์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ถมทะเล เมืองนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 6 ของโลกประจำปี 2019 รวมถึงยังได้รับรางวัลอีก 2 รางวัล ได้แก่ Best Regional Airport in Asia และ World’s Best Regional Airport

7. สนามบินมิวนิค ประเทศเยอรมนี

สนามบินมิวนิก หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่า สนามบินมิวนิก ฟรันซ์ โยเซฟ ชเตราสส์ ตั้งอยู่ที่ประเทศเยอรมนี โดยสนามบินมิวนิกถูกจัดให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 7 ของโลก ประจำปี 2019 รองรับผู้โดยสาร 40-50 ล้านคนต่อปี นอกเหนือจากนี้สนามบินมิวนิกยังได้รับรางวัลอื่นอีก 2 รางวัล ได้แก่ Best Airport in Central Europe และ Best Airport in Europe

8. สนามบิน ลอนดอนฮีทโทรว์ สหราชอาณาจักร

สนามบินฮีทโธรว์ ตั้งอยู่ที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นสนามบินที่หนาแน่นที่สุดของโลก รองรับผู้โดยสาร 75 ล้านคนต่อปี โดยในปี 2019 ถูกจัดให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 8 ของโลก รวมถึงยังกวาดอีก 3 รางวัลไปครอง ได้แก่ Best Airport in Western Europe , World’s Best Airport Shopping และ World’s Best Airport Terminal

9. สนามบินนาริตะ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

สนามบินนาริตะ ตั้งอยู่ที่เมืองนาริตะ จังหวัดชิบะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสนามบินที่รองรับการขนส่งทางอากาศเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยถูกจัดให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 9 ประจำปีนี้ แต่อย่างไรก็ดีสนามบินนาริตะยังสามารถคว้ารางวัลมาได้อีก 2 รางวัล ได้แก่ Best Airport Staff in Asia และ World’s Best Airport Staff

10. สนามบินซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

สนามบินซูริค หรือที่รู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า สนามบินโคลเทิน ตั้งอยู่ในเมืองโคลเทิน รัฐซูริคประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นสนามบินที่ดีที่สุดอันดับ 10 ของโลก ประจำปี 2019 และยังได้รับรางวัล World’s Best Airport Security Processing ร่วมอีกด้วย

Skytrax ใช้การสำรวจความคิดเห็นจากผู้โดยสารราว 13 ล้านคน จากกว่า 110 เชื้อชาติ และมีสนามบินเข้ารับการประเมิน 550 สนามบิน

โดยการประเมินความพึงพอใจของผู้โดยสาร ถูกแบ่งเป็น 39 ตัวชี้วัด ทั้งด้านประสิทธิภาพ ด้านการบริการ ตั้งแต่ผู้โดนสารเข้าไปในสนามบิน จุดเช็คอินขาเข้า ทรานสเฟอร์ ช็อปปิ้ง ความปลอดภัยและด่านตรวจคนเข้าเมือง จนกระทั่งออกจากสนามบิน

สนามบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ติด Top 100 Airport in the world ได้แก่ 

อันดับ 1 Changi Airport สิงคโปร์

อันดับ 40 Jakarta Airport อินโดนีเซีย

อันดับ 46 Suvarnabhumi Airport ไทย

อันดับ 54 Kuala Lumpur Airport มาเลเซีย

อันดับ 86 Noi Bai International Airport เวียดนาม


จีนเปิดใช้สนามบินที่มีอาคารผู้โดยสารใหญ่ที่สุดในโลก

สำหรับจีน มีสนามบินที่ถูกจัดให้อยู่ใน 100 อันดับสนามบินที่ดีที่สุด ได้แก่

- สนามบิน Shanghai Hongqiao(เซี่ยงไฮ้ หงเฉียว) อยู่ในอันดับที่ 16

- สนามบิน กว่างโจว อันดับที่ 39

- สนามบิน Haikou Meilan(ไหโขว่ เหม่ยหลาย) ในมณฑลไหหลำ อันดับที่ 41

- สนามบิน Xi'an(ซีอาน) อันดับที่ 44

- สนามบิน Shenzhen(เสินเจิ้น) อันดับ 65

- สนามบิน Beijing Capital อันดับ 72

- สนามบิน Chengdu (เฉิงตู) อันดับ 75

- สนามบิน Changsha (ฉางชา) อันดับ 99

แต่เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา จีนได้มีพิธีเปิดสนามบินนานาชาติต้าซิง หรือ Beijing Daxing International Airport สนามบินนานาชาติแห่งที่ 2 ในกรุงปักกิ่ง ซึ่งจีนยืนยันว่าเป็นสนามบินนานาชาติที่มีอาคารผู้โดยสารใหญ่ที่สุดในโลก โดยตัวอาคารมีพื้นที่ 1 ล้านตารางเมตร ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 5 ปี ด้วยงบประมาณ 17,000 ล้านดอลลาร์หรือประมาณ 510,000 ล้านบาท โดยสนามบินแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 47 ตารางกิโลเมตร (ราว 29,500 ไร่ ใหญ่กว่าพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิราว 1.5 เท่า)

โดยจีนตั้งเป้าว่าจะเป็นชุมทางของผู้โดยสารเครื่องบินมากที่สุดในโลก ในปี ค.ศ. 2022 ซึ่งสนามบินต้าซิงออกแบบมาเพื่อรองรับผู้โดยสารมากถึง 72 ล้านจนถึง 100 ล้านคนต่อปี 


13 ปีสนามบินสุวรรณภูมิยังอยู่ที่เดิม

สนามบินสุวรรณภูมิเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2545 ในสมัย ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เปิดให้บริการเมื่อปี 2549 โดยใช้งบประมาณกว่า 120,000 ล้านบาท โดยเมื่อสร้างเสร็จ สนามบินสุวรรณภูมิ ถูกบันทึกว่าเป็นสนามบินมีหอบังคับการบินที่สูงที่สุดในโลก ด้วยความสูง 132.2 เมตร และมีอาคารผู้โดยสารเดี่ยวที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ด้วยพื้นที่ใช้สอย 563,000 ตารางเมตร

แต่หลังสร้างเสร็จ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ก็ไม่ได้มีการพัฒนาที่เด่นชัด ขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร เมื่อตอนสร้างในปี 2549 รองรับได้ 45 ล้านคน แต่ปัจจุบันต้องรองรับนักท่องเที่ยวถึง 65 ล้านคนต่อปี

ในปี 2553 Skytrax จัดให้สนามบินสุวรรณภูมิ ติดอันดับ 10 สนามบินที่ดีที่สุดในโลก

ปี 2554 ถอยมาอยู่อันดับที่ 13

ปี 2555 อยู่อันดับที่ 25

ปี 2556 และ 2559 อันดับที่ 38

ปี 2560 และ 2561 อันดับที่ 36

ปี 2562 อันดับที่ 46

เมื่อตอนที่ก่อสร้าง รัฐบาลมีแผนที่จะพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ เฟส 2-5 วางกรอบพัฒนาถึงปี 2573 คาดจะใช้เงินลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาท หากเสร็จสมบูรณ์คาดว่าจะรองรับนักเดินทางได้ถึง 150 ล้านคนต่อปี

แต่จนปัจจุบันการพัฒนาในระยะที่ 2 ก็ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ที่ค้างคามานาน ซึ่ง บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. จะหันไปสร้างอาคารส่วนต่อขยายทางทิศเหนือ (Concourse A Anex)แทน โดยพยายามเรียกชื่อว่าเป็น Terminal 2 แต่ถูกหลายฝ่ายคัดค้าน เพราะขัดต่อแผนแม่บท (Master plane) ในการพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ

โดยปัจจุบันโครงการก่อสร้าง Concourse A Anex อยู่ในขั้นตอนการขออนุมัติโครงการ


บทวิเคราะห์ ปัญหาของสนามบินสุวรรณภูมิ

1.เน้นเพิ่มพื้นที่พาณิชย์มากกว่ารองรับผู้โดยสาร

“แผนพัฒนาโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (Terminal 2) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ผิดไปจากแผนแม่บทเดิม รัฐบาลกลับจะผลักดันต่อ โดยไม่ฟังเสียงทัดทานจากสภาพัฒน์ การดำเนินการดังกล่าว ส่งผลให้เกิดความล่าช้าและความเสียหาย สนามบินเกิดความแออัด ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในขณะนี้ได้ ขณะเดียวกัน ทอท.ได้พยายามเบี่ยงเบนเพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ซึ่งใช้งบประมาณ 42,000 ล้านบาท เพราะพื้นที่อาคารมีขนาดใหญ่และเน้นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์กับผู้โดยสาร”นายอัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA)

“การออกแบบสนามบินใหญ่อย่างที่ปักกิ่งและสิงคโปร์ ใช้สถาปนิกระดับโลกในการออกแบบ ในขณะที่ไทยใช้มือออกแบบจากสถาปนิกที่ไม่มีชื่อเสียงไม่มีประสบการณ์ในการก่อสร้างสนามบินระดับชาติ อีกทั้งการเร่งก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ทอท. มีเป้าประสงค์เน้นพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อหารายได้” นายวิชัย ตันตราธิวุฒิ อดีตนายกสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย

2.เป็นธุรกิจผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน

“ธุรกิจสนามบินไม่ใช่ธุรกิจเชิงพาณิชย์ ไม่ใช่ธุรกิจที่มีการแข่งขัน ทำให้ ทอท.ไม่จำเป็นต้องปรับปรุงพัฒนาใดๆ เพราะมีกำไรถึงปีละ 3 หมื่นล้านบาทอยู่แล้ว ส่วนเรื่องของดิวตี้ฟรีนั้น สนามบินในเมืองไทยยังมีปัญหาเรื่องของสัมปทานที่ผูกขาดเพียงเจ้าเดียว ทำให้เกิดกำไรเพียงร้อยละ 17 ต่างจากสนามบินในต่างประเทศที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหลายรายเข้ามารับสัมปทานซึ่งสร้างกำไรได้ถึงร้อยละ 40” ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ อดีตผู้อำนวยการวิจัย TDRI 

3 ปัญหาอื่นๆ

สนามบินที่ได้รางวัลทุกแห่ง จะเน้นการอำนวยความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร ไม่ว่าจะขั้นตอนการเดินทางออกหรือเข้าประเทศที่สะดวก และใช้เวลารอไม่นาน รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆให้ผู้โดยสารทำ ระหว่างที่แวะรอเปลี่ยนเครื่อง เช่น museum หรือ gallery เอาไว้ให้คนเข้าไปชม มีสวนหย่อมขนาดย่อมๆ มี kids club , entertainment , playground ให้เด็กได้เล่นไม่เบื่อ มี movie theater ห้องเกม และ facility อื่นๆที่หลากหลาย มี transit hotel มีห้องอาบน้ำ มีที่นั่งพัก เก้าอี้เอนนอนในมุมสงบให้นอนพัก ฯลฯ ไม่ได้เน้นพื้นที่ขายของอย่างเดียว

สนามบินสุวรรณภูมิยังมีปัญหาระบบการจราจรติดขัด ไร้ระเบียบ ใช้ระบบเส้นสาย, การขนส่งมวลชน, อาหารแพง, การตรวจคนเข้าเมืองที่ล่าช้า, ความสะอาด ปัญหาตรวจคนเข้าเมือง ปัญหา Taxi ฯลฯ


10 สนามบินในไทย ที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด

กรมท่าอากาศยานเปิดเผยข้อมูลว่า ปี 2562(1 ต.ค.2561-30 ก.ย.2562) ที่ผ่านมา ท่าอากาศยานภายใต้การดูแลกรมท่าอากาศยาน จำนวน 25 ท่าอากาศยานทั่วประเทศไทย มียอดผู้โดยสารใช้บริการกว่า 18.57 ล้านคน 146,181 เที่ยวบิน

โดยท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารเป็น 10 อันดับแรก คือ 

1.ท่าอากาศยานกระบี่ มีจำนวนผู้โดยสารตลอดทั้งปีอยู่ที่ 3.9 ล้านคน มี 26,457 เที่ยวบิน 

2.ท่าอากาศยานอุดรธานี ผู้โดยสาร 2.6 ล้านคน มี 18,495 เที่ยวบิน 

3.ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี ผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน มี 12,809 เที่ยวบิน 

4.ท่าอากาศยานขอนแก่น ผู้โดยสาร 1.9 ล้านคน มี 14,356 เที่ยวบิน 

5.ท่าอากาศยานอุบลราชธานี ผู้โดยสาร 1.8 ล้านคน มี 12,033 เที่ยวบิน

6.ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ผู้โดยสาร 1.5 ล้านคน มี 15,969 เที่ยวบิน 

7.ท่าอากาศยานพิษณุโลก ผู้โดยสาร 7 แสนคน มี 5,743 เที่ยวบิน 

8.ท่าอากาศยานตรัง ผู้โดยสาร 6.9 แสนคน มี 4,514 เที่ยวบิน

9.ท่าอากาศยาน น่าน นคร ผู้โดยสาร 4.2 แสนคน มี 3,554 เที่ยวบิน

10.ท่าอากาศยานนครพนม ผู้โดยสาร 4 แสนคน มี 2,835 เที่ยวบิน

ส่วนสนามบินบุรีรัมย์ มีผู้ใช้บริการมากเป็นอันดับ 13 ผู้โดยสาร 3.5 แสนคน 3,289 เที่ยวบิน

Voice TV
กองบรรณาธิการ วอยซ์ทีวี
185Article
76559Video
0Blog