สถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี 2016 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงเกือบ 3,000 คน ทำให้ไทยอาจกลายเป็นประเทศที่มีอันตรายจากการใช้รถใช้ถนนมากเป็นอันดับ 1 ของโลก ซึ่งสาเหตุก็มีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นถนนที่ชำรุด, ป้ายจราจร หรือสัญญาณไฟ ที่ไม่ชัดเจน และการไม่เคารพกฎจราจร
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก หรือดับเบิลยูเอชโอ เปิดเผยรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทยตลอดปี 2016 ซึ่งไทยมีผู้เสียชีวิตมากถึง 22,356 รายเมื่อปีที่แล้ว เพิ่มขึ้นจากสถิติผู้เสียชีวิต 19,479 รายเมื่อปี 2015 โดยเพิ่มขึ้นถึง 2,877 ราย
ข้อมูลของศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก จะถูกนำไปรวบรวมกับข้อมูลของประเทศอื่นๆ เพื่อให้องค์การอนามัยโลกจัดทำเป็นรายงานความปลอดภัยทางท้องถนนทั่วโลกซึ่งจะเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปีหน้า และมีความเป็นไปได้ว่าไทยอาจจะมีสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนมากที่สุดในโลก แต่ก็ต้องรอดูข้อมูลเพิ่มเติมจากประเทศอื่นๆ อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งหากไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตมากที่สุด ก็อาจทำให้ไทยกลายเป็นประเทศที่อันตรายที่สุดด้านการใช้รถใช้ถนน ซึ่งในปี 2015 ไทยก็เคยมีสถิติผู้เสียชีวิตบนท้องถนนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากลิเบีย
ส่วนจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุทางท้องถนนและทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรเมื่อปีที่ผ่านมา คือ ระยอง สระแก้ว ชลบุรี จันทบุรี นครนายก และปราจีนบุรี ขณะที่กรุงเทพฯ ยะลา แม่ฮ่องสอน สตูล อำนาจเจริญ และปัตตานี เป็นจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ แต่ผู้ที่เสียชีวิตมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 39 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด รองลงมาคือคนเดินถนน ร้อยละ 5 และผู้ขี่จักรยาน คิดเป็นร้อยละ 1
สำนักข่าวเบอร์นามาของมาเลเซียรายงานด้วยว่าที่ ผ่านมาไทยมีการรณรงค์ป้องกันและออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการจราจรหลายด้าน แต่การเคารพกฎจราจรของผู้ขับขี่ยานพาหนะยังไม่ค่อยเคร่งครัดมากนัก โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการขับขี่ขณะมึนเมา หรือผู้ขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกกันน็อค เช่นเดียวกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษหรือตักเตือนผู้กระทำผิดทางจราจรก็ยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมาก
อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่เพียงแต่ทำให้ทำให้คนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บเท่านั้น แต่ว่าสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของไทยด้วย เพราะอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแต่ละครั้ง ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นค่ารักษา ค่าเยียวยาเหยื่อ, ค่าซ่อมแซมรถ, ค่าดำเนินคดี และก็ยังเรื่องโอกาสการทำงานที่สูญเสียไปด้วย ทำให้เกิดความสูญเสียที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาทต่อปี หรือเทียบเท่ากับจีดีพี 6%