ผู้เชี่ยวชาญจากอังกฤษชี้ การรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้าติดต่อกันเป็นเวลานานเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม
งานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์สหราชอาณาจักรพบว่า การรับประทานยาแก้โรคซึมเศร้าติดต่อกันเป็นระยะเวลานานเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ โดยระบุด้วยว่าผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในอังกฤษราว 20,000 คน อาจเป็นผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากยารักษาโรคซึมเศร้า ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม Anticholinergic (แอนตีคอลิเนอร์จิก) ที่ออกฤทธิ์บล็อกการทำงานของสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งแพทย์ยังจ่ายยาประเภทนี้ให้ผู้ป่วยโรคกระเพาะปัสสาวะและโรคพาร์กินสันอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอีสต์ แองเกลีย และมหาวิทยาลัยแอสตัน ได้ศึกษาใบสั่งยามากถึง 27 ล้านใบ จากผู้ป่วยในระบบสวัสดิการสุขภาพกลาง หรือ NHS กว่า 324,000 คน ย้อนหลังไปเกือบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม การเก็บข้อมูลในลักษณะนี้ไม่สามารถระบุได้ว่าอัตราเสี่ยงในการเป็นโรคสมองเสื่อมตามที่สรุปในงานวิจัยจะถูกต้องแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์
สถิติปัจจุบันชี้ว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจของอังกฤษ จากการที่ลูกจ้างขาด-ลา หรือขาดประสิทธิภาพในการทำงาน เนื่องมาจากโรคซึมเศร้าหรืออาการเครียดจัด อยู่ที่ 26,000 ล้านปอนด์ หรือ 1 ล้าน 1 แสนล้านบาท และมีคนต้องออกจากงานเพราะโรคหรืออาการเหล่านี้ปีละ 300,000 คน