ค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้อยู่ที่ 32.05 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ จากเมื่อต้นปีที่แล้ว อยู่ที่ 35.8 บาท แข็งค่าขึ้นเรื่อยๆจนช่วงกลางเดือนเดือนธันวาคมปีที่แล้วอยู่ที่ 32.45 บาท และก็แข็งค่าต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่าการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบ ซึ่งเรื่องนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็ได้สั่งให้เฝ้าระวังและเร่งหามาตรการที่จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สั่งการให้กระทรวงการคลังหามาตรการเพิ่มเติมเพื่อทำให้ค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่องให้อ่อนค่าลง เพื่อป้องกันไม่ให้กระทบกับการส่งออกและการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งการดูแลค่าเงินบาทเป็นหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่นายอดิศักด์ก็ต้องการให้กระทรวงการคลัง หามาตรการทางการคลังช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ทำอยู่ โดยที่ผ่านมากระทรวงการคลัง ก็ใช้โอกาสที่ค่าเงินไทยกำลังแข็งค่าอยู่ตอนนี้ ให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เร่งชำระหนี้ต่างประเทศก่อนกำหนด เพราะการจ่ายหนี้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศในช่วงนี้ จะถูกกว่าตอนที่เงินบาทอ่อนค่า ซึ่งการเร่งชำระหนี้ต่างประเทศก็สามารถทำได้ส่วนหนึ่งแต่ไม่มาก เพราะปัจจุบันประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศน้อย เนื่องจากกู้ภายในประเทศเป็นหลักเพราะมีสภาพคล่องภายในประเทศจำนวนมาก
คนทั่วไปอาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไรกับการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้น อาจจะเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ เพราะไปเที่ยวต่างประเทศได้ถูกลง แต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกของไทยเพราะทำให้สินค้าส่งออกของไทยแพงมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ศึกษาพบว่าการแข็งค่าขึ้น 10% ของค่าเงินบาท จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้จากภาคธุรกิจส่งออกสูงถึง 1 แสนล้านบาท และอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือกลุ่มสินค้าเกษตรและกลุ่มอาหาร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่มีการนำเข้า จึงไม่ได้รับอานิสงส์จากการแข็งค่าของเงินบาท และสินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนรายได้สูงถึง 2หมื่น-5 หมื่นล้านบาท แต่กลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกที่มีการนำเข้าเครื่องจักรด้วย อาจจะได้ผลประโยชน์บ้าง แต่โดยรวมแล้ว เงินบาทที่แข็งค่าจะเป็นความเสี่ยงต่อการส่งออกของไทย
สาเหตุหลักๆที่ทำให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น มาจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง ซึ่งก็ทำให้สกุลเงินของหลายๆประเทศแข็งค่าขึ้นประมาณ 1.8-1.9% ไม่ใช่แค่เงินบาทอย่างเดียว นอกจากนี้ เศรษฐกิจเอเชีย และยุโรป ก็มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นมากกว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯทำให้มีเงินลงทุนระยะสั้นในตราสารหนี้ไหลเข้ามาในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยเพิ่มขึ้นมาก เพราะว่าได้ดอกเบี้ยสูง สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่อยู่ที่ 1.50% ก็ถือว่ามีความเหมาะสม เพราะใกล้เคียงกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐที่อยู่ที่ 1.25% ซึ่งคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยอาจจะปรับดอกเบี้ยขึ้นในเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งน่าจะทำให้เงินทุนไหลเข้าไทยลดลง และทำให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง มองว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยควรมีมาตรการส่งเสริมให้เอกชนนำเงินไปลงทุนต่างประเทศมากกว่าที่ทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อให้เงินที่ไหลเข้าและไหลออกอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งจะส่งผลทำให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น
ในส่วนของภาคเอกชน ก็ควรที่จะต้องมีมาตรการทางเลือกเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดจากค่าเงินที่ผันผวน ซึ่งก็มีอยู่หลายทางเลือก เช่น การซื้อประกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา หรือการใช้เงินสกุลอื่นๆที่แข็งค่าขึ้นเหมือนกันในการซื้อขายสินค้าแทนเงินดอลลาร์ หรือไม่ก็นำเงินดอลลาร์ที่ได้มาจากการส่งออกสินค้าฝากเข้าบัญชีเงินตราต่างประเทศไว้ก่อน แทนการแลกเป็นเงินบาทในทันที ซึ่งเรื่องพวกนี้ถือว่ามีความสำคัญสำหรับคนที่ทำธุรกิจกับต่างประเทศก็ควรเฝ้าระวังเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินเอาไว้ให้ดี เพราะก็เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจอาจจะกำไรหรือขาดทุนก็ได้