“รัฐบาล” มัวแต่เงื้อง่า และงุนงง หลังตั้งกรรมการ ศบค. จนใหญ่อุ้ยอ้าย ขนาด ”เจ้าสัวซีพี” ต้องออกโรงเตือน ขืนล็อกดาวน์ต่อ ระวังทำเศรษฐกิจพัง ชี้ปิดเมืองร่วมเดือนสูญเสียไป 5 แสนล้านแล้ว
บังเอิญกับที่ บีบีซีไทย ปล่อยคลิปสัมภาษณ์ “นายกฯ ทักษิณ” ชี้ผลเสียล็อกดาวน์ในหลายประเทศ บอกถ้ามีโอกาสแก้ปัญหา จะไม่ล็อกดาวน์
กรุงเทพธุรกิจ รายงานบทสัมภาษณ์ นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่ระบุว่า รัฐบาลควรปลดล็อคเมือง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ เพราะตั้งแต่ไทยใช้นโยบายปิดเมือง 1 เดือน สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากกว่า 5 แสนล้านบาท หากยังปิดล็อคต่อไป จะยิ่งสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจนยากจะเยียวยาให้ฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน
“การปิดไปเลย ปล่อยให้ล้มละลายไปเลย เวลาฟื้นจะไม่ง่าย เหมือนสร้างบ้าน ระเบิดตึก 10 ชั้นวินาทีเดียวพังหมด แต่เวลาสร้างใหม่ 10 ชั้น ต้องใช้เวลาเป็นปี นี่จึงเป็นเหตุให้อเมริกา ต้องรีบเปิด แม้จะมีปัญหา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ก็รีบเปิดเหมือนกัน เพราะถ้าปิดไปนานๆเศรษฐกิจจะพัง”
สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำการศึกษาและรวบรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์ พบว่า ออสเตรเลีย จีดีพีหดตัว 10.4% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายวันละ 4,800 ล้านบาท ฝรั่งเศส จีดีพีหดตัว 32% เสียหายวันละ 14,800 ล้านบาท สหราชอาณาจักร จีดีพีหดตัว 35% เสียหายวันละ 16,185 ล้านบาท มาเลเซีย จีดีพีหดตัว 58% เสียหายวันละ 26,925 ล้านบาท
ส่วนกรณีของประเทศไทย ตามที่ นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง ประเมินว่าจะเสียหายวันละ 18,670 ล้านบาท แต่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ประมาณการมูลค่าความเสียหาย โดยใช้ข้อมูลรายการย่อยขององค์ประกอบจีดีพีที่คำนวณจากด้านรายจ่าย และคำนวณจากด้านผลผลิต พบว่า จากด้านรายจ่ายจะเสียหายวันละ 15,010 ล้านบาท หรือ 32.5% ของจีดีพีต่อวัน
ที่อ้างอิงจีดีพีปี 2562 ต่อวันอยู่ที่46,240 ล้านบาท และด้านผลผลิต เสียหายวันละ 16,460 ล้านบาท หรือ 35.6% ของจีดีพีต่อวัน
“ค่าเสียหายต่อวัน แทนที่เราจะรอให้เสียหาย เอาเงินที่จะเสียหายไปเสริมจุดแข็งประเทศ เพื่อความพร้อมยามฟ้าสว่าง ลงทุนด้านสาธารณสุข และด้านเศรษฐกิจไปพร้อมๆกัน ผมมองต่างจากคนอื่น ผมเห็นว่าวันที่น่ากลัวที่สุดได้ผ่านไปแล้ว นั่นก็คือวันที่รัฐบาลประกาศปิดเมือง ปิดกรุงเทพ คนทะลักกลับต่างจังหวัด ตรงนี้ถือว่าอันตราย แต่ผ่านไป 2 อาทิตย์ กลับไม่มีปัญหา ทำให้ผมมั่นใจว่า ถ้าเราจะเปิดเมือง ก็จะไม่เป็นแบบเกาหลีและญี่ปุ่นแน่นอน ซึ่งเรื่องนี้ต้องชมเชยท่านนายกฯ ที่ทำได้ดี”
นายธนินท์ กล่าววว่า เรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่าจะจบเมื่อใด แต่รัฐบาลจะรอไม่ได้ จะต้องดำเนินการทันที เป็นการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เมื่อการระบาดจบเศรษฐกิจจะได้ขับเคลื่อนต่อไปได้ “ในยามวิกฤตต้องบริหารแบบเหตุวิกฤต ต้องเร็ว และมีคุณภาพ”
ส่วนการกู้เงินนั้น ควรจะกู้เงินจากต่างประเทศ และวงเงินที่เหมาะสมอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท และเป็นการกู้ระยะยาว 30 ปี โดยนำเงินมาใช้ฟื้นฟูและพัฒนาประเทศ โดยมุ่งไป 4 ด้านหลัก ได้แก่
1.การดูแลภาคเกษตร ให้มีรายได้สูงขึ้น
2.การดูแลการจ้างงาน ให้มีรายได้ 70%ของเงินเดือน โดยการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้บริษัทที่ดี
3.การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
4. การวางระบบสาธารณสุข สร้างบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล โรงพยาบาล รองรับไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของโลก
“เครดิตประเทศเราดีกว่าอังกฤษ การเงินการคลังของเราติดท็อป 10 ของโลก ทุกวันนี้เราเอาเงินไปซื้อพันธบัตรสหรัฐฯรับผลตอบแทน 0.20% ให้เปลี่ยนเป็นกู้มาใช้จ่ายในประเทศ รักษากำลังซื้อ อย่าปล่อยให้โรงงานปิด เครื่องจักรหยุดทำงาน”
นายธนินท์ กล่าวว่า โลกหลังโควิด จะเปลี่ยนไปอย่างมหาศาล อย่างที่คาดไม่ถึง การศึกษาออนไลน์จะเกิดขึ้นแน่นอน การซื้อของในบ้าน ซื้อสินค้าออนไลน์เกิดขึ้นแน่และรวดเร็ว การใช้เงินกระดาษจะลดลง เพื่อลดการติดเชื้อ ส่วนสถานที่แออัดที่ผู้คนไปชุมนุมกันมากๆนั้น ตอนนี้ยังคิดไม่ตกว่าจะทำอย่างไร ส่วนการท่องเที่ยวจะมีมากขึ้นไม่ใช่น้อยลง เพราะคนไม่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศอีกต่อไป คนจะทำงานที่บ้าน ท่องเที่ยวไปทำงานไป ดิจิทัลและเทคโนโลยี ช่วยสนับสนุน จึงเป็นโอกาสของประเทศไทย ที่จะดึงนักท่องเที่ยวมาเที่ยวเมืองไทย เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพ มีอำนาจการจับจ่ายสูง เพียงแต่รัฐบาลจะต้องทำงานเชิงรุก ประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยปลอดภัย ผ่านทางสถานฑูต ฑูตพาณิชย์ ที่ต้องออกไปเคาะประตูบ้าน
“เราต้องช่วยประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ประเทศไทยปลอดภัย ความจริงไทยควรจะติดโควิดมากที่สุดในอาเซียน เพราะคนมาเที่ยวปีละ 40 ล้านคน โดยเฉพาะคนจีน แต่เราติดน้อยที่สุดแค่หลัก 3 พันคน กระทบน้อยที่สุด เพราะมีหมอที่เก่ง และมี ท่านนายกรัฐมนตรี ที่รับมือได้ทันเวลา”
สำนักข่าว"บีบีซีไทย" เผยแพร่บทสัมภาษณ์นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพักใจกลางกรุงลอนดอน เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยตอนหนึ่งผู้สื่อข่าวได้ขอให้มองภาพการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ของไทย นายทักษิณ กล่าวชื่นชมไทยว่ามีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เขาเชื่อว่านั่นเป็นเพราะระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว
"ผมเป็นห่วงเรื่องการตรวจ เพราะถ้าเราตรวจน้อย เราพบน้อยแน่นอน แต่การตรวจก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง สามารถใช้ทฤษฎีเรื่องการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มได้"
จากการเฝ้าติดตามการแก้ปัญหาการระบาดของไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด สอบถามที่ปรึกษา นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักวิชาการอยู่ตลอดเวลา จนเชื่อว่าเข้าใจเชื้อโรคและการระบาดนี้ดีพอควร เห็นผู้นำหลายชาติในโลก ไม่เข้าใจเชื้อโรคอย่างแท้จริง" จึงแก้ปัญหาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และหากมีโอกาสแก้ปัญหาประเทศตอนนี้ก็จะ “ไม่ล็อกดาวน์”
อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยเผชิญวิกฤตการระบาดของไข้หวัดนกในปี 2547-2548 บอกว่าได้ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดนกและโรคซาร์สที่เคยระบาดครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2546 และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 แล้ว เชื่อว่าโควิด-19 ไม่ได้ร้ายแรงมากไปกว่าเชื้อไวรัสโรคซาร์ส จึงมองมาตรการล็อกดาวน์กับการเพิ่มระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย หากมีอำนาจเขาจะคลายการล็อกดาวน์ทันที
"เรามาดูทั้งโลกติด (โรคโควิด-19) แล้ว 3 ล้านกว่าคน จากประชากรโลก 7 พันล้านคน…ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก… เรากำลังเอาเปอร์เซ็นต์ต่ำนี้มาแลกกับเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อคนโดยเฉพาะ ในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีแรงอุดหนุนอะไรมากมาย ถามว่าคุ้มไหม ผมว่าไม่คุ้ม…คนข้างล่างเขาจะถามว่าถ้าไม่ติดโควิด- ถ้าอดตายละ…ทั่วโลกนี่ต้องคิดว่ายังมีคนที่ไม่มีเงินออมและมีหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก จะให้เขาเสียสละอย่างไร"