ไม่พบผลการค้นหา
ชทพ. เคาะชื่อ 'นิกร' ร่วมคณะแก้ รธน.ของรัฐบาล ลุยตั้ง ส.ส.ร. แก้ทั้งฉบับ ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 หวังรัฐธรรมนูญใหม่ สะท้อนความต้องการประชาชน คลายล็อค อำนาจ 3 ฝ่าย ลงตัว-สมดุล

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานประชุม สส. พรรคชาติไทยพัฒนา ถึงประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จากการหารือภายในพรรคชาติไทยพัฒนา ทางพรรคจะเสนอชื่อนายนิกร จำนง เข้าร่วมกับคณะทำงานของรัฐบาล เนื่องจากนิกร มีประสบการณ์ ร่วมคณะ ส.ส.ร. มาตั้งแต่สมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 211 และที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยพรรคชาติไทยในขณะนั้น ดำเนินการกันทุกขั้นตอน และมีรายละเอียดแนวทางการทำงาน รวมถึงที่มาของ ส.ส.ร. อยู่ในหนังสือ “ชุมพล ฅน ประชาธิปไตย” ซึ่งนิกรจะนำรายละเอียดเหล่านี้ ไปเสนอต่อที่ประชุมคณะทำงานร่วมของรัฐบาลต่อไป 

ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งคำถามว่าความเห็นของพรรคชาติไทยพัฒนา จะแก้ไขเพียงบางมาตราหรือยกร่างทั้งฉบับนั้น วราวุธ กล่าวว่า สิ่งที่พรรคชาติไทยนำเสนอในขณะนั้น วันนี้พรรคชาติไทยพัฒนา เสนอเช่นกันคือการตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งหมายถึงจะต้องมีการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ แต่ยังยืนยันและเป็นแนวทางของรัฐบาลว่า ไม่แตะหมวด 1 กับ หมวด 2 

อย่างไรก็ตาม การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จนั้น ต้องขอความร่วมมือหลายทุกฝ่าย และที่สำคัญต้องมีการพูดคุยกัน เพราะเท่าที่ทราบสมาชิกวุฒิสภา จะมีแนวทางอีกแบบหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรก็จะมีแนวทางอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นต้องมีการพูดคุยกัน เพื่อหาจุดลงตัว ไม่เช่นนั้น คงไม่สามารถเดินไปข้างหน้าด้วยกันได้

ทั้งนี้ การตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมา จะสะท้อนความต้องการของประชาชนทั่วประเทศ และกลั่นกรองออกมา เป็นแนวทางเดียวกับที่มาของรัฐธรรมนูญปี 2540 

ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีความเห็นอย่างไรต่อกรณีการทำประชามติว่าควรมีกี่ครั้ง จึงจะทำให้ รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ รวมถึงที่มาของส.ส.ร. โดย วราวุธ กล่าวว่า คงต้องมี 3 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นการทำประชามติว่าแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ส่วนจะผนวกคำถามอะไรเพิ่มเติมเข้าไป คงเป็นวิจารณญาณของคณะกรรมการร่วมรัฐบาลที่เป็นผู้ดูแล เช่น หากมีประชามติว่าให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องแก้ มาตรา 256 เพื่อให้ตั้ง ส.ส.ร. ได้ เมื่อแก้มาตรา 256 แล้วตั้ง ส.ส.ร. ก็ต้องทำประชามติอีก และก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ต้องทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง รวมเป็น 3 ครั้ง 

เมื่อถามว่ามีความคาดหวังอย่างไรในการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับครั้งนี้ ที่จะไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการเมืองอีก นายวราวุธ กล่าวว่า การทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ น่าจะมีความสมดุล และมีความลงตัวกันให้มากขึ้น บางครั้งการปลดล็อค หรือมีข้อจำกัดมากไป ในปัจจุบันจะทำให้การทำงานของหลายฝ่าย ไม่ลื่นไหล และการดำเนินการภายใต้กรอบงบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนทำได้อย่างล่าช้า จึงเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีการตั้ง ส.ส.ร. ครั้งนี้ จะสามารถตอบโจทย์ ที่ทำให้ทุกฝ่ายทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น รวมถึงเป็นการปกป้องสิทธิของประชาชน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะคล้ายกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริงหรือไม่ นายวราวุธ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีมานานกว่า 20 ปีแล้ว การจะมีอะไรเหมือนก็เป็นเพียงบางมิติ แต่ที่ผ่านมาบริบทโลกและสังคมไทย ได้เปลี่ยนไป จะให้เหมือนกันเป๊ะก็คงเป็นไปไม่ได้ เช่น การตั้ง ส.ส.ร. มาถึงวันนี้คงต้องมีการปรับเปลี่ยนบริบท เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน และประชากร 66 ล้านคนของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่จะเอาของ 20 ปีที่แล้วมาทำในวันนี้ 

ขณะเดียวกัน วราวุธ กล่าวว่า สัดส่วนกรรมาธิการฯ ของพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะนี้เรียบร้อยดีไม่มีปัญหา โดยในวันพุธที่ 27 กันยายนนี้ จะมีการแต่งตั้งและเริ่มประชุมและเริ่มประชุมได้ในวันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน ส่วนกระทู้ถามทั่วไป ที่อาจจะถามถึงความรับผิดชอบภายในกระทรวง พม. ทราบว่า มี 2 เรื่อง ซึ่งตนก็จะเตรียมตัวโดยเมื่อได้รายละเอียดแล้วจะมอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับผิดชอบให้มาหารือรายละเอียด เพื่อเตรียมตอบกระทู้ต่อสภาด้วยตนเอง แต่อย่างไรก็ตาม เรามี คณะที่ปรึกษา ติดตามและเร่งรัดขับเคลื่อนนโยบายรัฐมนตรี พม. ที่จะคอยสนับสนุนให้ข้อมูล