ไม่พบผลการค้นหา
การศึกษาของ ILO สมาชิกของสหประชาชาติ ชี้ว่าแรงงานนอกระบบ คือ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย และคาดว่าจำนวนผู้ใช้แรงงานที่มีฐานะยากจนจะเพิ่มขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 11

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) สมาชิกของสหประชาชาติ เผยแพร่การศึกษาเรื่อง "ผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อการจ้างงานและตลาดแรงงานในประเทศไทย" ซึ่งทำการสำรวจแรงงานในไตรมาสแรก พบว่าการขาดความมั่นคงทางรายได้และการไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการคุ้มครองทางสังคมทำให้แรงงานนอกระบบได้รับผลกระทบหนักที่สุด การสูญเสียรายที่เกิดขึ้นทำให้แรงงานจำนวนมากถูกผลักให้เข้าเกณฑ์ความยากจน (รายได้ขั้นต่ำ 1.90 ดอลลาร์หรือประมาณ 60 บาทต่อวัน) และคาดว่าจะส่งผลให้สัดส่วนของคนผู้ใช้แรงงานที่ยากจนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.7 เป็นอย่างน้อยร้อยละ 11 ของการตลาดการจ้างงานทั้งหมดในปีนี้ (63)

การระบาดใหญ่ส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยในรูปแบบของชั่วโมงการทำงานและค่าจ้างที่ลดลง หรือแม้กระทั่งการตกงาน การศึกษาประเมินว่าแรงงานในประเทศไทย 6.6 ถึง 7.5 ล้านคน จะต้องประสบกับปัญหาดังกล่าวโดยตรง นอกจากนี้ในไตรมาสแรกของปีก็มีการลดจำนวนชั่วโมงการทำงานในประเทศไทยไปแล้วเกือบร้อยละ 6 ซึ่งเทียบเท่ากับการปลดพนักงานประจำ 2.2 ล้านคน (คิดจากฐานการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) และคาดว่าจำนวนชั่วโมงจะถูกปรับลดลงไปอีกร้อยละ 10 ในไตรมาสที่สอง ซึ่งจะทำให้เกิดการสูญเสียโดยประมาณเท่ากับคนตกงาน 4 ล้านคน ตามการศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

แรงงานกลุ่มที่ถูกลดชั่วโมงการทำงานมากที่สุด คือ แรงงานทักษะต่ำในภาคเกษตรและงานธุรการต่างๆ รวมถึงการบริการลูกค้า ส่วนอาชีพที่มีชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นมากที่สุดในช่วงนี้ หรือเกือบ 1 ใน 5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว คืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

แกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการสำนักงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว กล่าวว่า เรายังไม่ทราบถึงความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดกับความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงาน เพราะต้องดูว่าสถานการณ์ของโรคระบาดจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด และมาตรการภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ รักษาธุรกิจ และการปกป้องความเป็นอยู่ของผู้คนจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

ด้าน กีต้า ซับบระวาล ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า การศึกษาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ทำให้เราเห็นว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 มีผลกระทบกลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางในประเทศไทยมากเป็นพิเศษ มาตรการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs รับมือกับการชะงักงันของตลาดแรงงาน และกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ งานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ดำเนินการโดยสหประชาชาติประจำประเทศไทย ก่อนหน้านี้ได้มีการเผยแพร่การประเมินผลกระทบจากโรคโควิด-19 ต่อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดยองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) สามารถอ่านได้ ที่นี่ ในสัปดาห์หน้าจะเผยแพร่การประเมินผลกระทบจากโรคโควิด-19 ในมิติเศรษฐกิจและสังคม จัดทำโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และยูนิเซฟ